xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ภาวะร้อนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือ FETCO ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในภาวะร้อนแรง ปัจจัยหนุนมาจากความเชื่อมั่นจากการตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องทั้งในส่วนตัวเลขการส่งออก และ GDP ในภาพรวม คาดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯ ยังมีการปรับตัวในทิศทางที่แกว่งตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ดร. สันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนธันวาคม 2560 “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในภาวะร้อนแรง โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากความเชื่อมั่นจากการตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในส่วนตัวเลขการส่งออก และ GDP ในภาพรวม และคาดการณ์ว่า ประธานนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จะมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความคืบหน้านโยบายปฏิรูปภาษีที่มีการผ่านวุฒิสภาสหรัฐฯ ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงจากคาบสมุทรเกาหลี นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้าจากการที่เกาหลีเหนือยังคงมีการทดลองอาวุธอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯ ยังมีการปรับตัวในทิศทางที่แกว่งตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2561) อยู่ที่ 150.81 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120-160) ปรับตัวลดลง 9.02% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 165.77 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศ ยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสถาบันภายในประเทศ กลุ่มนักลงทุนรายบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับร้อนแรง

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
ส่วนหมวดธุรกิจการเกษตร (AGRI) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

“ภาวะการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบขึ้นลงช่วงใกล้เคียง 1,700 จุด ในลักษณะพักฐานการลงทุน อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยหนุนจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ที่มีขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยตัวเลขการส่งออกมีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงนี้จะหดตัวลงก็ตาม ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง สำหรับปัจจัยต่างประเทศมีปัจจัยหนุนจากตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ยังมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษีและการคาดการณ์นโยบายทางการเงินของประธานคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ คนใหม่ในการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการบริโภคยังอยู่ในระดับที่ดี และการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินยังคงดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตามองจากประเทศจีนหลังสิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีนกลับมาดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาหนี้ในระบบที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเคลื่อนไหวที่ยังคงมีอยู่จากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ที่เป็นปัจจัยลบในการลงทุน แม้ว่าตลาดจะไม่ได้ตอบสนองมากนักก็ตาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น