xs
xsm
sm
md
lg

ดร. องอาจ กิตติคุณชัย จากกรรมกร สู่ธุรกิจข้าวโพดหวาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แกะเปลือกชีวิต ดร. องอาจ กิตติคุณชัย จากกรรมกรใช้แรงงาน สู่ธุรกิจข้าวโพดหวานแหล่งอาหารของโลก”

“กว่าจะมาเป็นต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้น ต้องผ่านประสบการณ์มากมาย แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ ยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งรอบข้าง เราก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ก็เหมือนข้าวโพดฝักนี้นี่แหละ กว่าจะได้ฝักที่เม็ดเรียงสวยเท่ากันทั้งไร่ ก็เกิดจากการเรียนรู้ทั้งนั้น แล้วยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีก้าวไกลมาก หลายคนมักจะบอกว่า พูดแต่เรื่องไม่เข้าใจ เทคโนโลยีอะไรก็ไม่เหมาะกับการเกษตรหรอก แต่วันนี้เราทำให้เห็นแล้ว เปิดใจกับมันเยอะ ๆ เราก็สามารถประยุกต์ใช้กับไร่ของเราได้ เท่านี้เราก็เป็นเกษตรกรยุคใหม่แล้ว”
ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าเส้นสายลายทางชีวิตของตนเองว่าเป็นเด็กที่ทำงานหลายอย่างมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่เริ่มต้น และเห็นชัดที่สุด คือ การเป็น “เสี่ยวเอ้อ” หรือคนใช้แรงงานโรงงานอุตสาหกรรมอาหารในจังหวัดสมุทรปราการ ในวัย 15 ปี ที่คอยตื่นแต่เช้าเพื่อมาเริ่มงานก่อนเวลา หน้าที่หลัก คือ การชงชาให้กับเจ้านาย ทำความสะอาด ทำงานในโรงงานในเวลางานปกติ ขับรถขนส่งสินค้า และอีกหลายต่อหลายงานที่แล้วแต่เจ้านายจะเรียกใช้ แลกด้วยค่าแรงเดือนละ 240 บาท

ด้วยระยะเวลาการทำงานถึง 10 ปี ทำให้ได้เรียนรู้หน้าที่ต่าง ๆ และระบบงานจนครบกระบวนการภายในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว จึงจุดประกายที่จะทำตามความฝันตัวเองที่สะสมมานานว่า อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงได้เริ่มออกเดินทางสู่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับซื้อผลผลิตเพื่อมาขายที่เมืองหลวงฯ ในช่วงแรกนั้น มีความยากลำบากในการหาลูกค้า เพราะยังถือว่าเป็นเจ้าใหม่ ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และทุนการทำธุรกิจในขณะนั้นยังไม่พร้อม แต่ด้วยความอดทนต่อความยากลำบากที่ถูกฝึกมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ใช้เวลาในการเริ่มต้นเส้นทางการเป็นพ่อค้านี้ไม่ยากเย็นนัก ด้วยบุคลิกที่จริงใจ และตรงไปตรงมา พร้อมลงมือเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การเข้าไปเสนอขายจนถึงการขับรถไปรับผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรด้วยตนเอง เพื่อมาส่งถึงมือลูกค้าทั้งที่เป็นแบบตลาดสด พ่อค้าคนกลาง หรือโรงงานอุตสาหกรรม ให้ได้ตามสินค้า และในเวลาที่กำหนด ไม่นานก็ได้รับความไว้วางใจจนธุรกิจการซื้อมา-ขายไปขยายตัวขึ้น จึงได้เช่าโรงงานเพื่อเก็บและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรไว้รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า ซึ่งในสมัยนั้นมีหลากหลายชนิดทั้งผัก และผลไม้จากเมืองหนาว รวมถึงผลไม้ที่สร้างชื่อให้กับธุรกิจคือ “ลำไย-ลิ้นจี่”

เคล็ดลับวิธีการค้าขายลำไย ลิ้นจี่ ที่มีความแตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด นั่นคือ การคัดแยกคุณภาพสินค้าให้ได้ขนาด และน้ำหนักที่เท่ากัน ทำให้ถูกใจพ่อค้าผู้รับซื้อในขณะนั้น ซึ่งได้สินค้าที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ถูกมองข้ามแต่สร้างจุดต่างให้โดดเด่นจากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน

และเมื่อถึงเวลาที่ต้องขยายกิจการ ด้วยสายตาที่กว้างไกลของ ดร. องอาจ จึงมองว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่สามารถเติบโต และแตกต่างได้ ถ้าหากขาดการแปรรูป จึงเป็นที่มาของโรงงานแปรรูปลำไย ลิ้นจี้ มะเขือเทศ และอีกหลากหลายสินค้าเกษตรที่รับมาจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวโพดหวาน” สินค้าที่ผู้บริหารวัยหนุ่มมองเห็นการเติบโตต่อไปในอนาคต

ต้นไม้ที่เติบโตย่อมต้องผ่านอุปสรรคมาทดสอบความแข็งแกร่งเสมอ การทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน จากบททดสอบที่เหมือนฝันร้ายของเศรษฐกิจไทย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และปิดตัวลง โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรภายใต้การบริการของ ดร. องอาจ ก็ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ แต่จะมีสักกี่คนที่มองว่า สิ่งเหล่านี้คือโอกาสที่ดี เลือกที่จะทัดทานเสียงจากสังคมให้หนีจากพิษเศรษฐกิจนั้น ยืนหยัดด้วยพลังเสียงจากครอบครัวที่ดี และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา ใช้เวลานานถึงเจ็ดปีกับการเคลียร์หนี้สินทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

จากการทำธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรมากมาย เมื่อถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นใหม่ มองว่า สินค้าที่เป็นเหมือนกำลังหลักอย่างลำไย ยังมีข้อจำกัดอยู่ นั่นคือ การมีผลผลิตตามฤดูกาล สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ยาก และในแง่การส่งออกไปยังต่างประเทศอาจจำกัดอยู่เพียงแค่ในเอเชีย จึงหันมาจับผลิตภัณฑ์ที่รองลงมา แต่มีแนวโน้มที่สามารถเติบโตได้ในอนาคตอย่าง “ข้าวโพดหวาน” พืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกได้ทั้งปี และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก มองว่า ข้าวโพดหวานสามารถควบคุมคุณภาพได้ดี และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตได้ ทำให้มียอดขายที่เติบโตมากขึ้น

เทคโนโลยีสมัยใหม่มีความก้าวหน้า และสามารถจับต้องได้ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีการพัฒนาโดยนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ เพื่อทดแทนกำลังคน ร่นระยะเวลา และสร้างคุณภาพให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ธุรกิจผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานก็เช่นเดียวกัน ดร. องอาจ ให้ความสำคัญกับแนวคิด “Smart Farm” คือ การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับประสบการณ์ของเกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูก อาทิ การติดตั้งเซ็นเซอร์สำหรับวัดปริมาณความชื้นในดิน เพื่อส่งน้ำให้กับต้นข้าวโพดหวานทั้งพื้นที่ ทำให้ได้ผลผลิตที่เท่ากันทั้งไร่ สามารถเปรียบเทียบได้จากผลผลิตในอดีต พื้นที่ 1 ไร่สามารถให้ผลผลิตได้เพียง 1 ตัน แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 ตัน ด้วยการก้าวข้ามผ่านปัญหาความไม่เสถียรของการเพาะปลูกโดยมนุษย์ที่ไม่เท่ากันตามฤดูกาล ส่งต่อไปยังกระบวนการแปรรูปสินค้า ได้มีการนำหุ่นยนต์ และเครื่องจักร มาใช้ในการผลิต แต่ต้องเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัย และเป็นสินค้ามือหนึ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่ได้มาตรฐาน ชัดเจนแม่นยำ และมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สวนทางกับหลักความคิดของนักธุรกิจในสมัยนั้นที่ต้องการลดต้นทุน หันไปพึ่งพาเครื่องจักรมือสองที่กำลังการผลิตด้อยกว่า ราคาต่ำกว่า หากแต่ผลที่ตามมา คือ การซ่อมบำรุงย่อมเกิดขึ้นถี่กว่าเช่นเดียวกัน

นอกจากการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยแล้ว การบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ก็เป็นสิ่งที่ ดร. องอาจ ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเชื่อในศักยภาพของเกษตรกรไทยว่ามีดีพอที่จะผลิตสินค้าเกษตรสำหรับส่งออกทั่วโลก ไม่น้อยไปกว่าชาวต่างชาติ แต่ยังขาดความพร้อมในด้านความรู้ และการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม

เมื่อเกษตรกรให้ความสนใจกับแนวคิดการปลูกข้าวโพดหวานให้ได้ผลิตคุณภาพทั้งขนาด และปริมาณ เกษตรกรเองต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกข้าวโพดหวานเป็นอย่างดี โดยทางบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้มีโครงการร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนทุกภาคส่วน จัดทำหลักสูตรการปลูกข้าวโพดหวานขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก ให้เกษตรกรได้พัฒนาศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะเข้าร่วม “Contract Farming” กับทางบริษัทฯ เพื่อเพาะปลูกผลผลิตให้ได้คุณสมบัติ ครบถ้วน พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมสำหรับการส่งออกไปอีก 60 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหวานส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
จากบทบาทในการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดร. องอาจ ยังได้รับความไว้วางใจในการรับหน้าที่เป็นประธานองค์กรเพื่อสังคมต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม, คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน และประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมเส้นทางการสร้างสรรค์สังคมของ ดร. ใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี ก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายนักธุรกิจที่มั่นคงผ่านกิจกรรมที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม และล่าสุด กับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด หรือ Chiangmai Social Enterprise (CSE) โดยเป็นองค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคม และนำผลกำไรมาพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

กว่าจะมาเป็น ดร. องอาจ นั้นไม่ง่าย ได้เก็บประสบการณ์การทำธุรกิจ และการใช้ชีวิตมากว่า 60 ปีไว้ในสมุดจดหนึ่งเล่มที่ทุกคนจะเห็นท่านนำติดตัวไว้เสมอ เปรียบเสมือนอาวุธคู่ใจที่คอยเก็บบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นในแต่ละวัน ไอเดียที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจ และข้อคิดที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงปัจจุบัน สมุดบันทึกที่เริ่มเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่ปี 2417 ก็ยังถูกเก็บไว้ในสภาพใหม่พร้อมใช้งานทุกเล่ม ทั้งยังมีการนำบันทึกต่าง ๆ มารวบรวมเป็นหนังสือไว้ ในชื่อ “คิดอย่างองอาจ” และ “ตำนาน Sunsweet” ไว้ให้เป็นของขวัญ และคู่มือชีวิตแก่ลูกหลาน พนักงาน ตลอดจนผู้ที่สนใจให้ได้อ่านอีกด้วย

ด้วยภาระหน้าที่หลากหลายด้าน ทั้งการเป็นผู้บริหารที่รักของทุกคนในบริษัท เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ การเป็น “คุณพ่อ” ของลูกน้อยวัย 7 ขวบ ก็ถือเป็นบทบาทที่ ดร. องอาจ ภูมิใจที่สุดเช่นเดียวกัน ถึงแม้ด้วยเวลาที่ห่างกันมาก แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกแต่อย่างใด แถมยังเข้าใจวิถีการเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ที่เลี้ยงลูกวัย GEN Z ได้อย่างดี คุณพ่อในวัยเก๋ามีวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นเหมือนเพื่อนสนิท ที่ต่างเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัยให้กัน หลังจากเสร็จบทบาทการเป็นผู้บริหารจากภายนอกบ้าน ก็เริ่มต้นกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านที่คุณพ่อ และลูก ต่างตั้งใจทำร่วมกัน เช่น การวาดภาพระบายสี การว่ายน้ำ หรือแม้แต่การเล่านิทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของคุณแม่ แต่ในบางครั้งที่คุณแม่ติดภารกิจก็ได้คุณพ่อเป็นผู้เล่านิทานบ้าง แม้จะพยายามเริ่มต้นเรื่องด้วย “กาลครั้งหนึ่ง...” กี่ครั้ง ก็อดไม่ได้ที่จะต้องนำเรื่องราวที่ได้พบเจอในแต่ละวันมาสอดแทรกเป็นนิทานให้ฟังอีก ถ้าหากถามลูกว่า อนาคตอยากเป็นอะไร หนึ่งในนั้น ต้องมีคำตอบว่า “อยากเป็นนักธุรกิจเหมือนคุณพ่อ” อย่างแน่นอน

การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สามารถบริหารเวลาให้สมดุลในทุก ๆ ด้านแบบนี้ ดร. องอาจ มีเคล็บลับที่สามารถสรุปเป็นข้อความสั้นๆได้ คือ “ขยัน เป็นคนดี และมีความซื่อสัตย์” หมายถึง “ขยัน” เรียนรู้เพื่อต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้สดใหม่เสมอ “เป็นคนดี” ยืดหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง อดทนต่อสิ่งเร้าไม่ให้หลงไปกับอบายมุข หรือสิ่งที่ไม่ดีรอบข้างได้ และ “ความซื่อสัตย์” ตรงไปตรงมากับการทำธุรกิจ เมื่อใดที่เราขายความซื่อสัตย์แก่ลูกค้าให้เกิดความเชื่อมั่น และมีความไว้วางใจ สามารถทำดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เมื่อนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น