xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชน เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต หลังภาครัฐเร่งลงทุน และ ศก.โลกฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐ-เอกชน เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต หลังภาครัฐเร่งลงทุน และ ศก. โลกฟื้นตัว แต่ยังห่วงกำลังซื้อ ลุ้น SET ทำนิวไฮ

หน่วยงานรัฐ และเอกชน ประสานเสียงเศรษฐกิจไทยปี 61 ยังเติบโตจากการลงทุนภาครัฐ จะช่วยหนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มกลับมาดีขึ้น ผลักดันด้วยแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออกที่ต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังแข็งแกร่ง ด้านราคาพลังงาน ที่เชื่อว่าจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ก็จะเป็นผลบวกต่อต้นทุนการประกอบการ แต่ยังห่วงกำลังซื้อที่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่มากนักในปีหน้า

ด้านตลาดทุนยังต้องลุ้นว่า ดัชนี SET จะทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์จากระดับที่เคยทำได้ราว 1,789 จุดได้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 61 ดัชนีหุ้นไทยจะยังสดใสจากทิศทางดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจไทยที่ดี รวมถึงการบริโภคในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณกลับมาดีขึ้นด้วย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลัง กล่าวผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทย ปี 2018 ท่ามกลางศึกนอกและศึกใน” ที่จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงดึกวานนี้ (14 ธ.ค.) โดยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะเติบโตระดับ 3.9-4.0% และขยับเป็น 4.1% ในปีหน้า จากการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะเงินลงทุนจากภาครัฐวิสาหกิจที่มากขึ้น และก็เชื่อว่าจะทำให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งเมื่อร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีผลบังคับใช้ก็เชื่อว่าจะยิ่งทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้นอีก และเมื่อจีดีพีเติบโตก็จะทำให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ปัจจัยภายนอกในประเทศขณะนี้นับว่ามีสภาพคล่องตลาดค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจโลกทั้งยุโรป, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, จีน เริ่มดีขึ้น ซึ่งเป็นที่ต้องจับตาดูต่อไปว่า ทั้งสองดังกล่าวจะยังมีความต่อเนื่องในปีหน้าหรือไม่ ส่วนในประเทศนั้น ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้นด้วย แต่ในปีหน้า เชื่อว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยลงจากปีนี้จากฐานที่ใหญ่ แต่ในด้านการท่องเที่ยว จะยังเติบโตได้ดี แต่ก็น่าจะยังน้อยกว่าปีนี้

“อีกอันหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อน คือ การลงทุนของภาครัฐ ก็น่าจะเริ่มส่งผลให้ปีหน้า ก็จะส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนซึ่งไม่โตมาเลยตลอด 10 ปีนี้ จะเริ่มเติบโตได้ในปีหน้า แต่ที่ยังกังวล คือ เรื่องการบริโภค เพราะประมาณ 30-40% ของประชากรไทยเป็นภาคเกษตร ซึ่งราคาพืชผลทางการเกษตรยังไม่ดี ทำให้กำลังซื้อยังไม่มา แม้เศรษฐกิจโต แต่คาดว่าคนที่จะได้ประโยชน์เป็นพวกบริษัทขนาดใหญ่ แต่เอสเอ็มอีไม่ได้โตมาก ก็จะยังทำให้กำลังซื้อยังไม่แข็งแรง เศรษฐกิจปีหน้า แม้จะดีกว่าปีนี้ แต่ไม่มาก” นายบุญทักษ์ กล่าว

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท (PTT) กล่าวว่า สถานการณ์จากปัจจัยภายนอกจะเป็นสิ่งที่เสริมต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์พลังงานโลก โดยในส่วนของราคาน้ำมันในปีหน้า ประเมินว่าจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ ที่ราว 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากระดับ 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปีนี้ โดยราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพ จะทำให้นักธุรกิจสามารถประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทาย คือ ในด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ว่าจะช่วยลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาได้หรือไม่

ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงมีความน่าเป็นห่วงจากปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่จะทยอยลดลง และการผลิตจะยังมีความต่อเนื่องได้หรือไม่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนความชัดเจนการเกิดโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้ซีเมนต์น่าจะดีในปีหน้า หลังเริ่มเห็นสัญญาณในช่วง 1-2 เดือนนี้ ที่แนวโน้มดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีงบในด้านนี้เติบโตกว่า 20% ตลอดจนการค้าชายแดนที่ยังไปได้ดี และภาคการเกษตร ที่น่าจะยังดี ก็จะทำให้เกิดการใช้จ่าย โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ก็จะผลักดันให้การใช้ซีเมนต์ คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามมาเป็นลำดับด้วย

ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนี SET ในปี 61 ยังต้องจับตาว่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้หรือไม่ หลังจากที่เคยทำได้เมื่อปี 37 ที่ราว 1,789 จุด แต่ก็มองว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ยังมีโอกาสสดใส จากเศรษฐกิจของประเทศที่ดีต่อเนื่องจากการส่งออกที่มีสัญญาณที่ดี และการท่องเที่ยว ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณกลับมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,760 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น