xs
xsm
sm
md
lg

“บีซีพีจี” ปูพรมโซลาร์รูฟ เน้นหลังคาปั๊มบางจาก-โรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
“บีซีพีจี” รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เดินหน้าติดตั้ง “โซลาร์รูฟ” บนหลังคาสถานีปั๊มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ ผุดต้นแบบ 50 สถานีปั๊มน้ำมันใหม่ พร้อมทยอยปรับปรุงสถานีเดิมอีก 1,000 สถานีทั่วประเทศ คาดใช้งบ 3-5 ล้านต่อสถานี เผยผู้ว่า กนอ. ไฟเขียว พร้อมสำรวจความต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จากผู้ประกอบการก่อนวางแผนดำเนินงาน

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี หรือ BCPG เดินหน้ารุกโครงการ “โซลาร์รูฟ” (Solar Rooftop) ในสถานีบริการน้ำมันของ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 เบื้องต้น มุ่งเน้นไปที่สถานีบริการน้ำมันที่จะสร้างใหม่ประมาณ 50 สถานีทั่วประเทศ ควบคู่กับการศึกษารูปแบบน้ำมันบางจากเดิมเพื่อปรับปรุงต่อไป โดยคาดว่าจะใช้สถานีบริการน้ำมันบนถนนศรีนครินทร์ เป็นสถานีบริการต้นไป

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาโมเดลเบื้องต้น โครงการโซลาร์รูฟบนหลังคาสถานีบริการน้ำมันบางจาก 1 แห่งใช้งบประมาณลงทุน 3-5 ล้านบาทต่อปั๊ม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ระหว่าง 100-300 กิโลวัตต์ (KW) โดย BCPG จะเป็นผู้ลงทุนทั้งระบบ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายกลับไปให้กับปั๊มน้ำมันนั้น ๆ

“การลงทุนทั้งหมดทาง BCPG จะเป็นผู้ลงทุนทั้งระบบ โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากบางจาก แต่รอรับส่วนต่างประหยัดค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนเกิน และขายได้ ถ้าคำนวณความคุ้มค่า ปัจจุบัน บางจากมีปั๊มน้ำมัน 1 พันแห่งทั่วประเทศ มีแผนที่จะสร้างใหม่ 50 ปั๊มต่อปี เราลงทุนเพียงครั้งเดียว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว”

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มจากเข้าไปร่วมสร้างปั๊มใหม่ เพราะสร้างใหม่ง่ายกว่าปรับปรุง แต่ยังก็ศึกษารูปแบบปั๊มที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ เพื่อทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ฯ ไปตามระบบ จากการพูดคุยเบื้องต้น เราน่าจะใช้ปั๊มน้ำมันบางจากบนถนนศรีนครินทร์ เป็นปั๊มต้นแบบจากการศึกษาเมื่อติดตั้งแผงโซลาร์ฯ เสร็จแล้วน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า คือ อาจสามารถทดลองรูปแบบการซื้อ-ขายไฟทางอินเทอร์เน็ต (Internet of Energy) โดยการใช้ Blockchain Technology ตามเป้าหมายของเราที่จะพัฒนาให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในอนาคตด้วย โดยเราคงจะขายให้กับร้านค้าภายในปั๊มน้ำมันดังกล่าว

นอกจากนี้ BCPG ยังได้เจรจาเบื้องต้นกับนายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เรื่องการติดตั้ง “โซลาร์รูฟ” บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปทาง BCPG จะเข้าสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก่อนวางแผนการดำเนินงานต่อไป ตามตามแผนกาดำเนินงานปี 2561 ในการนำพลังงานสีเขียวสู่ชีวิตประจำวันตามแผนการดำเนินงานที่ประกาศไป

“จะพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเพิ่มมูลค่าของพลังงานผ่านธุรกิจการซื้อขายไฟ โดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการบริหารจัดการพลังงาน แต่เรื่อง Hold sale เราก็ยังทำอยู่ ก็จะเป็นการเติบโตทั้งในส่วน conventional ก็ยังมีอยู่”

ปัจจุบัน BCPG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 585 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 394 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 191 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งในญี่ปุ่น,ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ขณะที่ในส่วนของประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2560 จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มที่จากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ และการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพในอินโดนีเซียได้เต็มปี รวมถึงจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเริ่ม COD ในปีหน้า อีกไม่น้อยกว่า 150 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 9 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์ฟาร์ม ญี่ปุ่น ราว 80-90 เมกะวัตต์, และโครงการโซลาร์รูฟท็อปอีก 30-50 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้ายื่นข้อเสนอโครงการ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลประกาศรับซื้อแล้ว และโครงการ VSPP Semi-Firm ที่รัฐบาลกำลังจะประกาศรับซื้อ โดยคาดหวังจะได้รับกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 20-30 เมกะวัตต์

ขณะที่นายเบญจพล สุทธิ์วนิช หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มงานกลยุทธ์ และปัจจัยพื้นฐาน บล. เอเอสแอล ระบุ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการ BCPG ตามแผนขยายกำลังผลิต โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61 จะเติบโต 28% เมื่อเทียบกับปี 2560 จากการรับรู้รายได้เต็มปีครั้งแรกใน (1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (ญี่ปุ่น) จำนวน 3 โครงการ (2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (ฟิลิปปินส์) และ (3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (อินโดนีเซีย) รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (ญี่ปุ่น) อีก 2 โครงการที่จะทยอยเริ่มผลิตไฟฟ้าในช่วง 4Q61 ขณะที่ระยะยาวบริษัทยังคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 1,000 เมกะวัตต์เช่นเดิม

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าระยะยาว BCPG จะมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 15.2% CAGRs จากกำลังผลิตที่เพิ่มตามแผน ณ สิ้นไตรมาส 3/60 ซึ่งบริษัทมีกำลังผลิตรวม 332 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2559 และจะเพิ่มเป็น 336 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 60

“เราปรับใช้มูลค่าเหมาะสมของ BCPG ในปี 61 อยู่ที่ 25 บาท จากวิธี DCF (เทียบเท่ากับ 1xPEG) เราชอบและแนะนำลงทุนในบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ยังการเติบโตของกำลังผลิต โดยมูลค่าเหมาะสมของเรารวมกำลังผลิตระหว่างปี 61-65 ซึ่งรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั้ง 3 แห่ง (โครงการ Wayang Windu กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 20% ขณะที่โครงการ Salak กำลังผลิต 65 เมกะวัตต์ และโครงการ Darajat กำลังผลิต 47 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นโครงการละ 17.3%) โดย Salak และ Darajat อยู่ระหว่างการเจรจาสำหรับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า ถือเป็น Upside และเรายังไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ”
กำลังโหลดความคิดเห็น