ก.ล.ต. เล็งเพิ่มสัดส่วนขั้นต่ำและเพดานเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น 3-30% จากเดิม 2-15% ส่งเสริมการออมวัยเกษียณ
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เตรียมพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนขั้นต่ำ และเพดานของสัดส่วนเงินสมทบที่ใส่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เพิ่มขึ้นเป็น 3-30% จากปัจจุบันที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดสัดส่วนของเงินสมทบขั้นต่ำ และเพดาน อยู่ที่ 2-15% เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมที่มากขึ้น รองรับต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ขณะที่การปรับเพดานของสัดส่วนเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะปรับอัตราขั้นต่ำ และเพดาน ของสัดส่วนของเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็น 3-30% เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้น และทำให้เกิดการนำเงินไปลงทุนต่าง ๆ
ก.ล.ต. ได้ตระหนักถึงการวางแผนการเงิน และเลือกลงทุนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมคนวัยทำงานให้เตรียมพร้อมในเรื่องเงินออมให้เพียงพอ และออมให้เป็นเพื่อรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ เนื่องจากปัจจุบัน จำนวนประชากรผู้สูงอายุ หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มมากขึ้น และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 68 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวน 20%
“ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องการออมอย่างมาก เพื่อให้คนวัยทำงานสามารถมีเงินออมเพื่อรองรับวันเกษียณ ซึ่งอยากให้มีการออมที่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบัน คนขาดความใส่ใจในเรื่องการออม และการเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางคนก็กลัวในเรื่องผลตอบแทนระยะสั้นที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งทาง ก.ล.ต. ไม่อยากให้มองในเรื่องผลตอบแทนแค่ในระยะสั้น แต่การออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นประโยชน์ในระยะยาว เพื่องรองรับวัยเกษียณ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเศรษฐกิจเองประเทศโดยรวม ถ้าทุกคนสามารถทำได้ จะมีผลต่อการเกิด Market Forces ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนใส่ใจในการออม และมีการลงทุนมากขึ้น” นางทิพยสุดา กล่าว
นางทิพยสุดา กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 397 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 1.01 ล้านล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งหมด 2.93 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.1% และนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 17,093 ราย เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปี 59
ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า การส่งเสริมเรื่องการออมจะช่วยให้ประชาชนที่ทำงานสามารถมีเงินไว้รองรับต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น และเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในวัยเกษียณจะไม่มีเงินออมไว้สำหรับการไช้ชีวิต ทำให้ทางสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ก.ล.ต. ต้องร่วมกันนำเรื่องนี้ออกมาอธิบาย และส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมตั้งแต่วัยทำงาน และรู้จักออมให้มากขึ้น โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นทางเลือกในการออมอย่างหนึ่งที่ทำให้คนวัยทำงานออม และมีการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนไปพร้อม ๆ กัน และเป็นการกระจายการลงทุนที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงที่สมาชิกแต่ละคนสามารถยอมรับได้
ทางสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีความคิดเห็นที่ตรงกับ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราขั้นต่ำ และเพดาน ของสัดส่วนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเป็น 3-30% จากปัจจุบัน 2-15% เพื่อสอดคล้องกับอัตราเงินสมทบของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่เป็นภาคบังคับ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถออมได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมองว่าควรจะมีการแก้ไขการจ่ายเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อครบกำหนดให้เป็นการทยอยจ่าย จากปัจจุบันที่จ่ายครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด เพราะการจ่ายครั้งเดียวจะทำให้ประชาชนนำเงินออมไปใช้ฟุ่มเฟือยได้ และทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตในภายหลัง แต่การทยอยจ่ายจะช่วยให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น
อีกทั้งยังมองไปถึงความร่วมมือกับภาคสถาบันการเงินในการส่งเสริมสินเชื่อประเภทการจำนองแบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นทางเลือกวัยเกษียณ โดยเมื่อนำบ้านไปจำนองไว้กับธนาคารแล้ว ธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ทุกเดือนเหมือนกับว่า ธนาคารเป็นผู้มาซื้อบ้านของผู้ขอสินเชื่อ และผู้ขอสินเชื่อจะได้กระแสเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคาร จนเมื่อครบกำหนดชำระสุดท้าย บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคาร ซึ่งต่างกับการจำนองทั่วไป ที่สุดท้ายแล้ว บ้านจะมาเป็นของผู้ขอสินเชื่อที่จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ธนาคารทุกเดือน
ทั้งนี้ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้มีการกำหนดจัดประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น ครั้งที่ 6 เพื่อเฟ้นหากองทุนที่มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกองทุน สามารถเป็นรูปแบบที่ดี และเป็นตัวอย่างแก่กองทุนอื่น ๆ ได้ โดยกองที่ชนะเลิศการประกวดจะได้รับรางวัลสมเด็จพระราชทาน รองชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลจาก ก.ล.ต. และรางวัลชมเชยจะได้รับโล่รางวัลจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเปิดรับสมัครประกวดจนถึงวันที่ 12 ธ.ค. 60 และกำหนดปะกาศผลและมอบรางวัลกองทุนดีเด่นในวันที่ 23 ก.พ. 61 ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท โดยการจัดประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีกองทุนที่มีคุณภาพ และมีการบริการจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลเพิ่มมากขึ้นในอนาคต