xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เจอหมัดสวนบิ๊ก บล. / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สั่งลงโทษ
 
ผู้บริหารและพนักงาน บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ นับไม่ถ้วน ปรับเป็นเงินบ้าง พักใบอนุญาตบ้าง แล้วแต่มูลฐานความผิดว่าร้ายแรงขนาดไหน ซึ่งส่วนใหญ่ยอมรับบทลงโทษ ไม่ค่อยมีใครโต้แย้งคำตัดสินของ ก.ล.ต. อาจมีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษบ้าง แต่เมื่อคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น มักยอมก้มหน้ารับชะตากรรม



และไม่เคยมีใครหาญกล้า เดินหน้าเอาเรื่อง ก.ล.ต. ถึงขั้นยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญา  
 
เพิ่งจะมีกรณี นายชยันต์ อัคราทิตย์ อดีตกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เป็นคนแรกที่สร้างคดีประวัติศาสตร์  ฟ้องนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.

นายชยันต์ และ นางสาวชญานี โปขันเงิน อดีตกรรมการ บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด ถูก ก.ล.ต.สั่งลงโทษ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 1 ปี ฐานปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลความจริงที่แจ้งต่อ ก.ล.ต. คดีการใช้ข้อมูลภายในการครอบงำ กิจการหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด(มหาชน)


ความผิดของนายชยันต์ และนางสาวชญานี คือ พยายามปกปิดข้อมูล เพื่อช่วยผู้กระทำผิดกรณีอินไซเดอร์หุ้น "บีฟิท"


ก่อนหน้าที่จะยื่นฟ้อง นายรพี ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาสร้างหลักฐานเท็จ นายชยันต์เคยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ล.ต.แล้วแต่คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น


นายชยันต์ มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการปกป้องชื่อเสียง เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
    
ปกติแล้ว กรรมการหรือผู้บริหารโบรกเกอร์  มักไม่อยากตอแยกับก.ล.ต. โดยยอมรับคำสั่งลงโทษโดยดุษฎี
 
นายชยันต์เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นมา "ซดหมัด" กับ ก.ล.ต. 

นายชยันต์ เป็นน้องชาย นายพิชิต อัคราทิตย์ ซึ่งเพิ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่การฟ้อง กลับก.ล.ต.ครั้งนี้ ไม่มีบารมีพี่ชายมาเกี่ยวข้อง เพราะพี่ชายเพิ่งหมดบารมี

สิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุใดนายชยันต์ จึงไม่กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ บล.เอเชีย เวลท์ ทำไมผู้ถือหุ้นโบรกเกอร์แห่งนี้ ไม่ทักท้วงนายชยันต์ และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ บล.เอเชีย เวลท์ให้ท้ายนายชยันต์

คำสั่งพักการให้ความเห็นชอบ การเป็นบุคคลากรในธุรกิจตลาดทุนนั้น สาธารณชนโดยทั่วไปรู้สึกเหมือนกันว่า นายชยันต์คงหลุดจากวงการธุรกิจหลักทรัพย์ และหาอาชีพใหม่ไปแล้ว
    

แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำสั่งห้ามเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน  กลายเป็นเรื่องลิงหลอกเจ้า  เป็นเรื่องเด็กเล่นขายของ

 
เพราะนายชยันต์ กับนางสาวชญานี ยังคงทำงานอยู่ใน บล.เอเชีย เวลท์ เพียงแต่ย้ายจากตำแหน่งกรรมการ มาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารดูแลงานด้านธุรการและการพนักงาน

เช่นเดียวกับ กรณีนายประสิทธิ์  ศรีสุวรรณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จํากัด ซึ่งถูก ก.ล.ต.พักให้ความเห็นชอบการเป็นบุคคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 2 ปี แต่ปัจจุบันยังทำงานอยู่ใน บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จํากัด ดูแลด้าน CSR เสียด้วย
 
คำสั่งลงโทษของ ก.ล.ต.ดูน่ากลัว ผู้บริหารโบรกเกอร์ที่ถูกบทลงโทษ คนทั่วไปคิดว่า จะต้องตกระกรรมลำบาก แต่กลับแทบไม่ได้รับผลกระทบใด เพราะยังทำงานอยู่โบรกเกอร์แห่งเดิม


ข้อกล่าวหา ก.ล.ต. อ้างว่าสร้างหลักฐานปลอม เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง และถ้าพิสูจน์ได้ว่า ก.ล.ต. สร้างหลักฐานปลอม นายรพี และ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทั้งชุดมีสิทธิ์ตกเป็นผู้ต้องหา

อย่างไรก็ตามแม้จะถูกฟ้อง แต่ ก.ล.ต.ไม่ควรหวั่นไหวในการทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมผิดของโบรกเกอร์ และเมื่อปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อความสงบสุขของตลาดหุ้น ต้องพร้อมเผชิญหน้ากับผลกระทบใดๆที่จะตามมา

คดี ก.ล.ต. เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และ การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ระหว่างนายชยันต์ กับนายรพี คงใช้เวลาอีกยาวนาน ไม่มีใครทำนายได้ว่า คดีฟ้องนายรพี บทสรุปจะออกมาอย่างไร  รู้กันแต่ว่า ไม่มีเหตุผลใดที่ ก.ล.ต. ต้องสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อเล่นงานผู้บริหารโบรกเกอร์ ไม่ว่ารายใด

    
ส่วนนายชยันต์ มีพฤติกรรม ตามที่ ก.ล.ต.สั่งลงโทษจริงหรือไม่ คนในแวดวงธุรกิจหลักทรัพย์ จะเป็นผู้ให้คำตอบ



กำลังโหลดความคิดเห็น