วินเทจ วิศวกรรม-อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค-คิวทีซี เอนเนอร์ยี่-เดินหน้าลุยธุรกิจ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “พลังงานเพื่อโลกสีเขียว” ขนาด 220 MWDC ในพม่า เริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 คาดแล้วเสร็จ พร้อมเตรียมรับรู้รายได้ COD ภายในกลางปี 2561 ระยะเวลาขายไฟฟ้านาน 30 ปี
นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP ในนามผู้บริหารจัดการและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ (Megawatt; MW) ณ เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่ปัจจุบันเป็นความร่วมมือของ 4 บริษัท โดยมีผู้ลงทุนหลัก คือ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE), บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF), บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (QTC) และ Planet Energy Holding PTE. Ltd. (PEH) โดยได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ kWh แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ
3 ระยะแรกจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 MW และ 70 MW ในระยะสุดท้าย พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาล และบริษัทในประเทศพม่า โดยเมื่อมีการผลิตไฟแล้ว จะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 50 MW โดยมีจุดเชื่อมต่อระยะทางความยาว 1.3 ไมล์ หรือประมาณ 2.09 กิโลเมตร ขนาด 230 kV กับสายส่ง National Grid ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้ EPGE ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทคาดว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู จะเสร็จสิ้นพร้อมเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ระยะที่ 1 ในช่วงกลางปี 2561 จากนั้น จะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 2 ต่อทันที
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh ต่อปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของพม่ามีเพียงแค่ร้อยละ 34 ณ ปี 2558 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 87 ภายในปี 2573 ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าในประเทศพม่าผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้ว จำนวน 5,134 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ถึง 2564 อีก 996 MW
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ยังเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมามีน้อยมาก โดยใช้ระบบพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า หากเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 154,586,250 กิโลกรัม ต้องใช้ต้นไม้ 6,825,000,000 ต้น เพื่อดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE เปิดเผยว่า VTE ได้เข้าร่วมลงทุนใน GEP ในสัดส่วนร้อยละ 12 นอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูทั้งหมด การเข้าลงทุนในประเทศเมียนมาร์ในครั้งนี้เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตในประเทศที่โอกาสทางธุรกิจนั้นยังมีอย่างมหาศาล ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัท และผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้ เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศพม่า
นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ ยังเปิดเผยถึงรายละเอียดความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูว่า ขณะนี้บริษัท VTE โดยบริษัทย่อย ดำเนินการไปแล้วประมาณ 49% และเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2560 เป็นต้นไป โดยล่าสุด บริษัทได้จัดส่งแผงโซลาร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ระยะที่ 1 ถึงพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กลางเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในกระบวนการติดตั้งแผงโซลาร์ดังกล่าว (ขนาด 50 MW) ด้วยการดำเนินงานที่รวดเร็ว ซึ่งได้ร่วมมือกับผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีประสบการณ์สูง และมีความเชี่ยวชาญ สามารถทำให้การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ระยะที่ 1 เสร็จ และสามารถ COD ได้ภายในกลางปี 2561 อย่างแน่นอน
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เปิดเผยถึงความคืบหน้า และโอกาสในการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูดังกล่าว พื้นที่โครงการสำหรับโรงไฟฟ้าระยะแรกได้รับการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้ว และยังไม่พบปัญหาใด ๆ ในขณะนี้ คาดว่าการก่อสร้างระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนที่วางไว้ จากนั้น จะเดินหน้าลุยก่อสร้างระยะที่ 2 อีก 50 MW ต่อทันที
“สำหรับรูปแบบการเข้าลงทุน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ในฐานะบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 เป็นผู้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ GEP ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ซึ่งมั่นใจว่า การลงทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและสร้างการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทต่อไปในอนาคต ก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับสู่บริษัท และในท้ายที่สุด จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการ ปัจจุบัน ECF มีการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ทั้งส่วนที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ และส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นแล้วประมาณ 47 MW” นายอารักษ์ กล่าว
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทได้มอบหมายให้บริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 99.99% เข้าไปลงทุนใน GEP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของโครงการโรงไฟ้ฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 267 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ประเทศพม่า
สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ทรัพยากรอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการต่อยอดในการขยายการลงทุนในประเทศนี้ได้อีกในอนาคต จากความต้องการใช้ไฟฟ้าในพม่าเพิ่มสูงขึ้น โดยหากพิจารณาจากตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2544-2556 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% และคาดการณ์ช่วงปี 2556-2573 มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10%
“จากการศึกข้อมูลในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู พบว่ามีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าสูง โดยมีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อแผงโซลาร์ที่ติดตั้งสูงถึงร้อยละ 78.28 และมีอายุสัญญาสูงถึง 30 ปี ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของเมียนมาร์ เมื่อทยอยก่อสร้างครบ 4 ระยะ ขนาด 220 MW ตามแผนการดำเนินงาน และยังมีโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเมียนมาร์ ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายพูลพิพัฒน์ กล่าว