xs
xsm
sm
md
lg

คลังปลื้ม “ไอแบงก์” ผลงานฟื้น ปล่อยกู้รายใหญ่ฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลังปลื้ม “ไอแบงก์” ผลงานฟื้น หลัง ธปท. ปลดล็อกปล่อยกู้รายใหญ่ได้ ชู “วิทัย” เจ๋งเร่งแก้ปัญหาดันงานเดินหน้าตามระบบ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ปรับตัวดีขึ้นมาหลังจากนายวิทัย รัตนากร เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารคนใหม่ ซึ่งได้เร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้การทำงานของธนาคารเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อของไอแบงก์ปรับตัวดีขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เลย สวนทางกับเงินฝากที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระต้นทุนของธนาคาร โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติให้ ธอท. สามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาทได้ จากเดิมให้ปล่อยเฉพาะรายย่อยที่ไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น

“หากไม่ให้ไอแบงก์ ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เลย ธนาคารจะอยู่ไม่ได้ เพราะเงินฝากมีมากกว่าสินเชื่อที่ปล่อยไป ทำให้ธนาคารมีต้นทุน และ ธปท. ก็พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า การดำเนินงานของไอแบงก์ดีขึ้นจนสามารถผ่อนผันให้กลับมาปล่อยกู้รายใหญ่ได้อีกครั้ง” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวถึงความคืบหน้าในการหาพันธมิตรรายใหม่ว่า ขณะนี้มีผู้สนใจหลายราย และตอนนี้ได้ปิดรับการยื่นแสดงความสนใจแล้ว โดยหลังจากนี้ จะมีการพิจารณาข้อเสนอของพันธมิตรแต่ละแห่งที่ยื่นเข้ามา และคัดสรรพันธมิตรที่ดีที่สุด เพื่อร่วมทุนกับไอแบงก์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง

ในส่วนของการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์นั้น เงินก้อนแรกที่มาจากงบประมาณ 2 พันล้านบาท ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ยังรอการแก้ไขกฎหมายของธนาคารเอง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเปิดทางให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นได้เกิน 49% ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาพนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร็ว ๆ นี้ และคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายเพียงมาตราเดียว

สำหรับการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ มีวงเงินทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินงบประมาณ 2 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือจะมาจากเงินกองทุนแบงก์รัฐ จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยเพิ่มทุนให้ตามผลการดำเนินงานของไอแบงก์ โดยเฉพาะการหาพันธมิตร ซึ่งหากทำได้เร็ว ก็จะได้รับการเพิ่มทุนเร็วขึ้นไปด้วย

ส่วนการบริหารงานของบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) มีการโอนหนี้เสียของไอแบงก์มาแล้ว จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่ง IAM รับซื้อในราคา 50% โดยมีการออกตั๋วเงินให้กับไอแบงก์ไปเรียบร้อยแล้ว และตอนนี้ IAM อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการผู้จัดการเข้ามาบริหารการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค. นี้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลให้นโยบายชัดเจนว่า นอกจากการแก้ไขหนี้เสียดังกล่าวแล้ว ยังให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหายจากการปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น