xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นเครือญาติ "APURE - IEC" / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online




คณะกรรมการบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น APURE ได้สร้างความประหลาด โดยประกาศ

ส่งบริษัทลูก ซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IEC
 
วงเงินรวม 30 ล้านบาท แม้ว่า IEC กำลังมีปัญหารุมเร้าหนัก และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนก็ตาม
 
ไม่เฉพาะนักลงทุนทั่วไปเท่านั้นที่มีความรู้สึกประหลาดใจ ในมติคณะกรรมการ APURE แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีข้อสงสัย จึงได้

สั่งให้ APURE ชี้แจงเพิ่มเติม กรณีการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน IEC
 
IEC อยู่ระหว่างเรียกชำระหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 203,591.50 ล้านหุ้น ที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ใน ราคาหุ้นละ 1.25 สตางค์ กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

การระดมทุนของ IEC ครั้งนี้ ถูกประเมินว่า ไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะ ก.ล.ต. เพิ่งกล่าวโทษนายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตผู้บริหารบริษัทพร้อมพวกรวม 25 คน ในความผิดทุจริต ยักยอกและมีพฤติกรรมการผ่อนถ่าย วงเงินกว่า 200 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในหุ้นตัวนี้

นอกจากนั้น คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร IEC ยังไม่สามารถนำส่งงบการเงิน ตั้งแต่งวดบัญชีสิ้นสุด 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จนถึง ปัจจุบัน
 
จึงไม่มีใครรู้ฐานะการดำเนินงานที่แท้จริงของ IEC ส่วนหุ้นถูกแขวนป้ายเอสพี พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 16  สิงหาคม 2559 และถูกประกาศเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอน

อนาคตของ IEC ยังมืดมน จึงไม่น่าจะมีผู้ถือหุ้นรายใด ใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่คณะกรรมการ APURE กลับอนุมัติให้บริษัทลูก ซึ่งถือหุ้น IEC อยู่เพียง 400 หุ้น ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน IEC เกินสิทธิในวงเงินรวม 30 ล้านบาท เหตุผลการซื้อหุ้น IEC คณะกรรมการ APURE อ้างว่า เป็นการเพิ่มประโยชน์และผลกำไรของบริษัทฯในอนาคตการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน IEC 
 
เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน เพราะ นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน APURE สัดส่วน 25.80% ของทุนจดทะเบียน เป็นบิดาของนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ IEC
 
ตลาดหลักทรัพย์ฯสั่งให้ APURE ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเหตุผลการซื้อหุ้นเพิ่มทุน IEC ใน 3 ปมใหญ่ ภายในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ประกอบด้วย ข้อมูลฐานะการเงิน ผลดำเนินงาน และข้อมูลอื่นของ IEC ที่คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ APURE ใช้ในการพิจารณาลงทุนหุ้นเพิ่มทุน IEC
    
การลงทุนได้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง รอบคอบและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อ APURE และผู้ถือหุ้นอย่างไร และขอให้ชี้แจงข้อมูลให้ครบถ้วน ตามข้อกำหนดของรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญของ IEC เช่น การประกอบธุรกิจ สรุปฐานะการเงินและผลดำเนินงาน เกณท์ที่ใช้กำหนดวงเงินลงทุน
 
การออกเสียงของกรรมการที่มีส่วนได้เสีย หรือกรรมการที่เป็นบุคคลเกี่ยวโยงกัน ข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ขอให้คณะกรรมการ APURE ชี้แจงเพิ่มเติมนั้นเป็นการเจาะปมการซื้อหุ้นเพิ่มทุน IEC อย่างตรงประเด็น
 
เพราะเมื่อ IEC ไม่เคยส่งงบการเงินตั้งแต่งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือไม่ส่งงบฯ 6 ไตรมาสติดต่อกัน คณะกรรมการ APURE จะรู้ได้อย่างไรว่า ฐานะการเงินและฐานะการดำเนินงานที่แท้จริงของ IEC เป็นอย่างไร
 
คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ APURE จะอ้างกับตลาดหลักทรัพย์หรือว่า สามารถล่วงรู้ข้อมูลภายใน IEC จึงกล้าทุ่มเงิน30 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทที่ลูกชายของผู้ถือหุ้น ใหญ่ APURE นั่งเป็นประธานกรรมการอยู่
    
ถ้านายกวินพงศ์ ลูกชายของนายโกมล ไม่เป็นประธานกรรมการ IEC คณะกรรมการ APURE จะมีมติ อนุมัติการโยกเงิน 30 ล้านบาท ลงไปใส่ใน IEC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่หรือไม่
    
โครงสร้างผู้ถือหุ้น APURE ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,004 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 40.57% ของทุนจดทะเบียน โดยกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
    
ดังนั้น การนำเงิน 30 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทที่ยังไม่รู้ว่า ชะตากรรมจะจบลงอย่างไร จึงเป็นการนำเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อย APURE ไปเสี่ยง

เพียงเพราะความเกี่ยวพันระหว่าง นายโกมล กับ นายกวินพงศ์ เท่านั้น คณะกรรมการ APURE ควรตระหนักว่า เงินที่จะทุ่มใส่ซื้อหุ้น IEC เป็นเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อยทุกคน ไม่ใช่เงินของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ และหุ้น APURE ไม่ได้เป็นญาติกับหุ้น IEC เสียด้วย
    
ทำไมจึงอนุมัติเงิน 30 ล้านบาทซื้อหุ้นเพิ่มทุน IEC คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ APURE เตรียมคำตอบไว้ให้ดีแล้วกัน
    
เพราะไม่เพียงตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นที่ถาม แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย APURE อาจตั้งท่า รอซักฟอกอยู่ก็ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น