บอร์ดทีเอ็มบี มีมติแต่งตั้ง “ปิติ ตัณฑเกษม” นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ที่จะดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 31 ธันวาคม ศกนี้ ระบุเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ร่วมงานมาอย่างต่อเนื่อง มั่นใจ นำทีเอ็มบีเดินหน้าตอบสนองลูกค้าได้ตามแผนที่ตั้งไว้
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า เนื่องจากนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ได้แจ้งความประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ศกนี้ คณะกรรมการธนาคารจึงได้พิจารณาสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน และได้มีมติแต่งตั้งนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เป็นผู้สานต่อภารกิจในการนำธนาคารก้าวไปข้างหน้าในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
นายรังสรรค์ กล่าวว่า การแต่งตั้งคุณปิติ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีความต่อเนื่อง และราบรื่น โดยคุณบุญทักษ์ ได้ปฏิบัติภารกิจหลักสำคัญสองประการหลังจากที่มีการต่อสัญญาให้ทำหน้าที่ต่ออีก 2 ปีเมื่อปลายปี 2559 คือ การวางรากฐาน Digital Transformation ให้กับธนาคาร และการร่วมสรรหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งทำให้ทีเอ็มบีพร้อมแล้วสำหรับผู้นำคนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่นี้ต่อไป เพื่อดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของธนาคาร ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารเล็งเห็นว่า คุณปิติ เป็นนักการธนาคารที่มีวิสัยทัศน์ และความรู้ความสามารถ และได้ร่วมงานกับธนาคารมาตั้งแต่ช่วงที่คุณบุญทักษ์ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมวางกลยุทธ์ และดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของธนาคาร ยิ่งไปกว่านั้น คุณปิติยังมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของทีเอ็มบีเป็นอย่างดี คณะกรรมการธนาคารจึงเชื่อมั่นว่า คุณปิติจะสามารถนำทีเอ็มบีให้รุดหน้าต่อไปในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่ได้วางไว้
นายปิติ อายุ 47 ปี เป็นนักการธนาคารที่มีประสบการณ์เข้าร่วมงานกับทีเอ็มบี ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน นายปิติจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารกลยุทธ์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหการ ก่อนจะดำรงตำแหน่งปัจจุบัน นายปิติมีประสบการณ์ในวงการธนาคารมากว่า 25 ปี ครอบคลุมทั้งด้านลูกค้าธุรกิจ, ด้านลูกค้าSME, ด้านลูกค้ารายย่อย และธุรกิจตลาดทุน นอกจากนั้น ยังมีประสบการณ์การเป็นกรรมการอิสระของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน
ในโอกาสนี้ นายบุญทักษ์ ได้กล่าวว่า ผมขอขอบคุณลูกค้า คณะกรรมการธนาคาร และเพื่อนพนักงาน ที่ได้เคียงข้างกันมาบนเส้นทางการ “Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น” ด้วยรากฐานที่มั่นคงในทุกด้าน ตลอดจนการมีแผนกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวที่ชัดเจนในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และคล่องตัว สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลกิจการประกอบไปด้วยทรัพยากรบุคคลคุณภาพ ผมเชื่อมั่นว่า ทีเอ็มบีจะทะยานก้าวหน้าไปได้เร็วยิ่งกว่าเดิมในยุคดิจิทัล เป็นธนาคารที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง (Need-based) ให้ลูกค้าใช้งานง่าย (Simple & Easy) จนทำให้ลูกค้าชื่นชอบ และบอกต่อให้คนรอบข้างมาใช้บริการของทีเอ็มบีมากยิ่งขึ้นต่อไป”
นายบุญทักษ์ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 และเป็นผู้นำในการวางรากฐานทางการเงินที่ทำให้ทีเอ็มบี พ้นจากภาวะขาดทุนสะสมกว่าหนึ่งแสนล้านบาท พลิกกลับมาเป็นธนาคารที่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการทำกำไร และเติบโตอย่างต่อเนื่องสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ในงวดผลประกอบการปี 2553 นับเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งแรกในรอบ 14 ปี และเป็นผู้ที่นำการสร้างแบรนด์ทีเอ็มบี Make THE Difference เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรโดยเป็นธนาคารไทยที่นำแนวคิด LEAN มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนำเสนอแนวคิดใหม่ในด้านการธนาคาร เช่น แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นกลุ่มบัญชีเพื่อใช้ เช่น ทีเอ็มบี ออลล์ฟรี และกลุ่มบัญชีเพื่อออม เช่น ทีเอ็มบี โนฟิกซ์ และเป็นธนาคารแรกในไทยที่ยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามเขต ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความเข้าใจในปัญหา และความต้องการของลูกค้า พร้อมกันนี้ได้นำธนาคารก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการพัฒนาองค์กรและวิธีการทำงานให้มีความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นผู้ริเริ่มการธนาคารรูปแบบใหม่สำหรับยุคดิจิทัล ME by TMB บัญชีดิจิทัลที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีทั่วไป
นอกจากนี้ นายบุญทักษ์ยังได้ริเริ่มการให้บริการกองทุนรวมแก่ลูกค้าทุกคน ด้วยแนวคิด “ทีเอ็มบี โอเพ่น อาคิเทกเจอร์” (TMB Open Architecture) เปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนผ่านสาขาของทีเอ็มบี ในกองทุนดี ๆ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่ง โดยไม่ผูกติดอยู่กับบริษัทในเครือเท่านั้น เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมทั้งเปิดให้บริการที่ปรึกษา และจัดพอร์ตการลงทุน TMB Advisory ทำให้ลูกค้ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการลงทุนที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ ลูกค้ายังสามารถรับบริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยได้ริเริ่มการจัดอบรม LEAN Supply Chain ฟรีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้ซัปพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้มีความรู้และทักษะ สามารถนำ LEAN ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการการทำงาน และพัฒนากิจการของตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และความสามารถในการแข่งขันเพื่อความสำเร็จ และการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ ทีเอ็มบี ยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามแผนกลยุทธ์ 5 ปีที่วางไว้ต่อไป ภายใต้การนำของคุณปิติ โดยยังคงมุ่งเป็นธนาคารที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าอย่างตรงจุด (Need Based) ลูกค้าใช้งานง่ายและสะดวก (Simple & Easy) เป็นธนาคารที่ให้บริการ Transactional Banking ที่ดีที่สุดที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ลูกค้าเลือกใช้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารหลัก และบอกต่อ เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารไทยชั้นนำที่ทันสมัย และก้าวหน้าที่สุด