xs
xsm
sm
md
lg

แรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปหนุนดัชนีตลาดหุ้นภาคเช้าพุ่งกว่า 10 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดหุ้นไทยคึก นักลงทุนแห่ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ หนุนดัชนีช่วงเช้าบวกกว่า 10 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 2.7 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ได้รับผลดีจากตลาดวอลล์สตรีททำนิวไฮ และนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลประเด็นการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ด้านบล. โกลเบล็ก มองภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเข้าสู่ไฮซีซันในช่วงปลายปี ขานรับมาตรการช็อปช่วยชาติ เม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่แข็งแกร่ง วางกรอบการลงทุน 1,690-1,730 จุด

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วันนี้ (22 พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงช่วงท้ายของภาคเช้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ ทั้ง บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ. ปตท. (PTT) และกลุ่มธนาคาพาณิชย์

ช่วงเช้าดัชนีตลาดหุ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,722.45 จุด ต่ำสุดที่ 1,713.27 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายภาคเช้าที่ 1,720.57 จุด เพิ่มขึ้น 10.09 จุด หรือ 0.59% มูลค่าการซื้อขาย 27,050.90 ล้านบาท

หลักทรัพย์ที่มีอันดับการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ราคาปิด 50.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท หรือ 2.03% มูลค่าการซื้อขาย 1,922.35 ล้านบาท บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ราคาปิด 492.00 บาท เพิ่มขึ้น 4.00 บาท หรือ 0.90% มูลค่าการซื้อขาย 1,092.90 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาปิด 225.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท หรือ 0.90% มูลค่าการซื้อขาย 844.01 ล้านบาท

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากสภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจในช่วง Q3/2560 เติบโต 4.3% ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในช่วง 3.8-4% รวมทั้งปรับประมาณการ GDP ปี 60 เพิ่มขึ้นสู่ 3.9% จากเดิมคาดขยายตัว 3.5-4% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจใน Q4/2560 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน และมาตรการช็อปช่วยชาติ รวมถึงเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ก่อนถึงสิ้นปี และโกลด์แมน แซคส์ คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีหน้า มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ขึ้นสู่ 2.5% และปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานลงเหลือ 3.7% ในช่วงสิ้นปี 2561 ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบาย (FOMC) ของเฟด มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. และ Fund Flow ที่ยังผันผวน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ Net Sell ราว 2.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ยังคงต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจะเข้าสู่การของวุฒิสภาสหรัฐฯ แม้จะมีประเด็นที่เป็นอุปสรรคจากการที่วุฒิสมาชิกรีพับลิกันพ่วงการยกเลิกเนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายโอบามาแคร์ เข้ากับแผนการปฏิรูปภาษี อย่างไรก็ตาม รมว. คลังสหรัฐฯ คาดหวังว่า สภาคองเกรสจะผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นว่าจะมอบการปรับลดภาษีครั้งใหญ่เป็นของขวัญสำหรับชาวอเมริกันในวันคริสต์มาสปีนี้

นอกจากนี้ เช้ามืดวันที่ 23 พ.ย. เฟดจะเผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และในวันที่ 30 พ.ย. กำหนดประชุมกลุ่ม OPEC และnon-OPEC นอกโอเปก หารือเรื่องการขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเข้าสู่ไฮซีซันในช่วงปลายปี ขานรับมาตรการช็อปช่วยชาติ เม็ดเงินเข้าซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยกดดันจากคาดการณ์เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมปลายปีนี้ และ Fund Flow ที่ผันผวน

ดังนั้น ประเมินว่า SET ในสัปดาห์นี้ จะแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,690-1,730 จุด แนะนำลงทุน หุ้นที่คาดว่า ผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยน่าจะพลิกฟื้นได้ใน Q4/2560 ได้แก่ ANAN, COMAN, XO, MALEE, TPCH, TWPC, JUBILE และ AMA และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ส่งผลให้ยอดขายและเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น