น้ำมันจะไปไหน และกระทบต่อ SET Index อย่างไร
นับตั้งแต่ราคาน้ำมัน WTI ทำสถิติสูงสุดกว่า 108.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนสิงหาคม 2556 หลังจากนั้นราคาน้ำมันได้ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 26.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากเหมืองน้ำมันชั้นดินดาน (Shale Oil, Shale gas) ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างกลุ่ม OPEC ตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
โดยในระยะแรก ยิ่งลดกำลังผลิต ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกยิ่งเพิ่มกำลังการผลิต แต่ในระยะหลังมานี้ ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มโอเปกเริ่มมีเอกภาพ และร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปัจจุบันฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยเหตุผลที่จะทำให้ราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลง มีดังต่อไปนี้
ปัจจัยบวก
1.สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ภายหลังจากวิกฤติ Sub-Prime และวิกฤติการเงินในยุโรป เริ่มคลี่คลาย และเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งทำให้ภาคโรงงานของจีนมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น
2.กลุ่ม OPEC เริ่มให้ความร่วมมือกันในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะเดียวกันแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐ เริ่มอยู่ในสภาวะลดลงต่อเนื่อง
3.การเมืองในซาอุดิอาระเบีย หลังการจับกุมเจ้าชายทั้ง 10 แห่งราชวงศ์ซาอุฯ ได้ก่อให้เกิดความกังวลสงครามกลางเมืองแย่
4.ชิงพระราชอำนาจ แม้คาดว่าประเด็นนี้อาจเป็นเพียงระยะสั้น แต่ด้วยการที่ข่าวมาถูกจังหวะ ก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันบวกได้เป็นอย่างดี
5.การเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน โดยซาอุดิอาระเบียพยายามรวมศูนย์อำนาจ และมีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก อาจทำให้ความสัมพันธ์กับอิหร่าน ซึ่งมีแนวคิดตามหลักศาสนาร้าวฉานกันมากขึ้น
ปัจจัยลบ
1.ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC อาจเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปจากกลุ่ม OPEC ได้หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
2.ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น จะสนับสนุนให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน โดยเฉพาะ Shale Oil และ Shale Gas ในสหรัฐกลับมาเพิ่มสูงขึ้นได้
3.รถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการแหล่งพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น
ราคาน้ำมัน WTI เทียบกับแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐ
(รูปบน)
ที่มา : Bloomberg และ Bisnews
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบโลก ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 นี้ ราคาน้ำมัน WTI จะอยู่ที่ประมาณ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 เป็นต้นไป คาดว่าราคาน้ำมันจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัญหาการเมืองตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันช่วงหน้าหนาวเพื่อใช้ทำความร้อนและสร้างความอบอุ่นจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันเพียงระยะสั้น แต่หากผ่านช่วงฤดูหนาวนี้ไปแล้ว ความต้องการน้ำมันอาจลดลง ซึ่งจะสอดคล้องกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน และผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปก ที่พร้อมจะกลับมาผลิตสูงขึ้นอีกครั้ง
เมื่อราคาน้ำมันขยับตัวขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2018 เป็นต้นไป
ตารางราคาสัญญาซ้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบจาก 3 ตลาดน้ำมันที่สำคัญ
(รูปล่าง)
ที่มา : Bloomberg
ดังนั้น หากพิจารณาถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกต่อ SET Index แล้ว ราคาน้ำมันโลกน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ผลักดันดัชนีได้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ผ่านหุ้นกลุ่มพลังงานที่สำคัญ อย่างเช่น PTT และหุ้นกลุ่มพลังงานอื่น ๆ แต่หลังจากนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ก็อาจทำให้กลุ่มพลังงานปรับตัวลงได้ การที่ดัชนีพุ่งสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้ น่าระวังต่างชาติจะถือโอกาสขายทำกำไรออกมา ถ่วงการปรับขึ้นของ SET Index
สำหรับผู้อ่านที่มีคำแนะนำหรือข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความหรือตลาดอนุพันธ์ สามารถส่งคำถามหรือความคิดเห็นมาได้ที่ Chutikans@phillip.co.th