xs
xsm
sm
md
lg

คลังตั้งความหวังเพิ่มเบี้ยคนชราที่ยากจนได้ถึง 11,000 บาทต่อคนต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง
“พรชัย ฐีระเวช” เผย สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มเติมแหล่งที่มาของเงินกองทุนผู้สูงอายุ และนำเงินกองทุนผู้สูงอายุไปจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนคนจนทั้ง 3.6 ล้านรายแล้ว แม้ “คลัง” จะยังระบุไม่ได้ว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยแต่ละรายจะได้เบี้ยยังชีพรายได้เพิ่มอีกคนละเท่าไรก็ตาม แต่ก็ตั้งสมมุติฐานหาผู้ยังชีพที่มีฐานะยอมสละเงินบริจาค 1 ล้านราย จะทำให้มีเงินไหลกลับเข้าสู่กองทุนผู้สูงอายุอีก 8 พันล้าน ตั้งความหวังหลังแก้ไขกฎหมายรัฐบาลจะสามารถเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้โดยเฉลี่ยถึง 11,000 บาทต่อปีต่อคน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 8 พันบาทต่อปีต่อคน

กระทรวงการคลัง ยังสรุปไม่ได้ว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยแต่ละรายจะได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือนเพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพเดิมที่ได้เคยได้อยู่ในปัจจุบันอีกเดือนละเท่าไร เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้สูงอายุที่ประสงค์จะบริจาคเบี้ยยังชีพของตนให้กองทุนฯ แต่กระทรวงการคลังได้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าหากมีผู้สูงอายุที่บริจาคเงินค่าเบี้ยยังชีพของตนเข้ากองทุนฯ 1 ล้านคน หรือประมาณ 25% ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งสิ้น 4.4 ล้านรายแล้ว จะทำให้มีเงินไหลกลับเข้าสูงกองทุนผู้สูงอายุได้อีก 8 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับส่วนของเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุรา และยาสูบ อีกไม่เกินปีละ 4 พันล้านบาท ก็จะทำให้มีกองทุนฯ มีเงินเพิ่มถึง 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้จัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพเพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุที่อยู่ในโครงการคนจนที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 3.6 ล้านราย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มเติมแหล่งที่มาของเงินกองทุนผู้สูงอายุ และนำเงินกองทุนผู้สูงอายุไปจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการรองรับมาตรการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อดูแลประชาชนในกลุ่มดังกล่าวให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สศค. ยังกล่าวว่า ในประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น จึงได้มีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุนำเงินกองทุนมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าว และกำหนดให้มีการเพิ่มแหล่งที่มาของเงินกองทุนสำหรับนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์นี้ ซึ่งประกอบไปด้วยเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุรา และยาสูบ และโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ แหล่งเงินของกองทุนผู้สูงอายุในส่วนของเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายดังกล่าว สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ มีผลบังคับใช้

ขณะที่เแหล่งเงินจากโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งกำหนดวันเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีฐานะ และประสงค์จะบริจาคเบี้ยยังชีพผู้ชราตามสิทธิที่ได้รับจากรัฐบาล สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารมอบอำนาจ เพื่อแจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพได้ที่หน่วยงานที่ตนเองได้แจ้งลงทะเบียนนับเบี้ยยังชีพไว้ ได้แก่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร, เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, สำนักงานเมืองพัทยา

สำหรับผู้ที่มีทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัดแต่อาศัยในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งบริจาคได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานรับแจ้งการบริจาค จะจัดเตรียมแบบฟอร์มการขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุที่มีความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพ ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ และสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริจาคเบี้ยยังชีพสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เงินบริจาคดังกล่าวนั้น รัฐบาลจะนำเข้าสู่กองทุนผู้สูงอายุเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนฯ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้พิจารณาจัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพในส่วนที่เพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผลจากการลงทะเบียนในปี 2560 จะมีจำนวน 3.6 ล้านคน เมื่อเทียบจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งประเทศที่มีอยู่ 8 ล้านราย

นายพรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติม กระทรวงการคลังยังสรุปไม่ได้ว่า ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยแต่ละรายจะได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือนเพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพเดิมที่ได้เคยได้อยู่ในปัจจุบันอีกเดือนละเท่าไร เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้สูงอายุที่ประสงค์จะบริจาคเบี้ยยังชีพของตนให้กองทุนฯ แต่กระทรวงการคลังได้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าหากมีผู้สูงอายุที่บริจาคเงินค่าเบี้ยยังชีพของตนเข้ากองทุนฯ 1 ล้านคน หรือประมาณ 25% ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งสิ้น 4.4 ล้านรายแล้ว จะทำให้มีเงินไหลกลับเข้าสูงกองทุนผู้สูงอายุได้อีก 8 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่กองทุนฯ มีเงินจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเพียง 400 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับส่วนของเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุราและยาสูบ อีกไม่เกินปีละ 4 พันล้านบาทแล้ว จะทำให้มีกองทุนฯ มีเงินเพิ่มขึ้นถึง 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้จัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพเพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุที่อยู่ในโครงการคนจนที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 3.6 ล้านราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตั้งความหวังไว้ว่า การแก้ไขกฎหมายจะทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้โดยเฉลี่ยถึง 11,000 บาทต่อปีต่อคน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 8 พันบาทต่อปีต่อคน

ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดสรรเงินช่วยเหลือจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอ กผส. พิจารณา และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป เนื่องจากในปัจจุบัน หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพคนชราจะมีความแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเบียยังชีพรายละ 600 บาทต่อเดือน, ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับ 700 บาทต่อเดือน, ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะได้รับรายละ 800 บาทต่อเดือน, และผู้มีอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับรายละ 1 พันบาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น