หากพูดถึง cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล หลายคนอาจคุ้นหูกับสกุลเงินอย่าง Bitcoin ที่ราคาพุ่งทะยานขึ้นมาเรื่อยๆ จนทุบสถิติทำ New High สูงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 Bitcoin ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนเท่า นับตั้งแต่มีการเริ่มใช้สกุลเงินนี้มาในปี 2009 ความร้อนแรงของปรากฏการณ์ครั้งนี้สร้างคำถามให้แก่หลายฝ่ายว่า สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างความสั่นคลอนให้แก่สกุลเงินแบบดั้งเดิมหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนบางกลุ่มที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงเท่านั้น?
แม้ความต้องการสกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นมาอย่างท่วมท้น แต่อีไอซีมองว่า cryptocurrency ยังต้องเผชิญต่อความท้าทายอีกหลายอย่าง ทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ทำให้โอกาสที่คนทั่วไปจะนำมาใช้ในวงกว้างอาจไม่ง่ายนัก
อย่างไรก็ดี แนวคิดของ cryptocurrency อย่างเทคโนโลยี blockchain ที่เป็นรากฐานของ bitcoin นับว่ามีศักยภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุดท
เงินดิจิทัล (cryptocurrency) คือ สกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ จะไม่มีตัวกลางคอยควบคุมเหมือนสกุลเงินแบบดั้งเดิม (fiat currency) โดยผู้สร้างเงินแต่ละสกุลจะออกแบบ การได้มาของเงิน กำหนดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ และวิธีการใช้งานตามต้องการ
ทั้งนี้ ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ จะถูกเปิดเผยให้ทุกคนในระบบสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับความปลอดภัย และสร้างความโปร่งใสให้แก่เงินในระบบด้วย
ในบรรดา cryptocurrency ทั้งหมด Bitcoin คือเงินสกุลแรกที่ถูกคิดค้นขึ้น และกำลังเป็นกระแสที่คนทั่วโลกต่างจับตามองจากราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างร้อนแรงกว่า 600% นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2017
โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากกลุ่มคนทั่วไปที่เล็งเห็นประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัล และบรรดานักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน
“Bitcoin” มีจุดเด่นที่เหนือกว่าสกุลเงินแบบดั้งเดิมในหลายๆ ด้าน เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางคอยยืนยันการทำธุรกรรม ส่งผลให้การโอนเงินเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาราว 10 นาที ซึ่งรวดเร็วกว่ารูปแบบเดิมที่ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน
นอกจากนี้ Bitcoin ยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย เนื่องจากผู้ที่อยู่ในระบบจะมีฐานข้อมูลชุดเดียวกัน และรับรู้ข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นแบบ real-time จึงทำให้การแก้ไขข้อมูล หรือโจมตีระบบเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ความนิยมของ Bitcoin ส่งผลให้เกิด cryptocurrency ใหม่ตามมามากกว่าหนึ่งพันสกุล โดยได้มีการต่อยอดให้มีคุณสมบัติที่หลากหลาย และตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น Ether ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องของการประยุกต์ใช้ smart contracts เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการทำธุรกรรม เช่น การใส่เงื่อนไขให้ชำระค่าสินค้าก็ต่อเมื่อมีการยืนยันว่า ได้รับสินค้าแล้ว หรือการเคลมเงินประกันการเดินทางอัตโนมัติเมื่อเครื่องบินดีเลย์ โดยที่ไม่ต้องทำเรื่องขอเอาเงินประกันเหมือนในปัจจุบัน เป็นต้น
ในขณะที่ Ripple มีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นสกุลเงินสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้การโอนเงินมีความปลอดภัย และรวดเร็วมากขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยปัจจุบันทั้งสอง cryptocurrency เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุน และสถาบันการเงินมากขึ้น เนื่องจากมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3,000% จากต้นปี 2017 และทำให้สกุลเงินทั้งสองมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของตลาด cryptocurrency ทั้งหมดอีกด้วย ในขณะที่ Bitcoin ยังมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง และที่เหลือเป็นสกุลอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่า โอกาสที่ cryptocurrency จะเข้ามาแทนที่เงินสกุลดั้งเดิมอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น มูลค่าตลาดที่ยังเล็ก และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
โดยปัจจุบัน cryptocurrency ยังมีมูลค่าตลาดที่เล็กมาก โดยมีขนาดเล็กกว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 8 เท่า หรือเล็กกว่าสินทรัพย์อย่างทองคำถึง 42 เท่า อีกทั้งยังมีราคาที่ผันผวนสูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในระบบเศรษฐกิจอย่างดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน และหยวน โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin, Ether หรือ Ripple มีโอกาสเหวี่ยงขึ้นลงได้สูงสุดถึง 14% ภายในหนึ่งวัน ในขณะที่เงินสกุลหลักมีความผันผวนไม่เกิน 0.5% ส่งผลให้การนำ cryptocurrency ไปใช้งานในวงกว้างยังคงไม่ได้รับความเชื่อมั่นนัก สะท้อนให้เห็นจากจำนวนร้านค้าที่รับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล และอัตราผู้ใช้งานที่ยังมีจำนวนไม่มากถึงแม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ จากการสำรวจร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ 483 รายของ Morgan Stanley พบว่า จำนวนร้านค้าที่รับชำระด้วยสกุลเงินดิจิทัลลดลงจาก 5 รายในไตรมาสแรก ปี 2016 เหลือเพียง 3 รายในไตรมาสที่สองของปีนี้ ในขณะที่ร้านค้าส่วนใหญ่ยังคงรับชำระเงินผ่าน Visa, Master Card หรือ PayPal เป็นหลักมากกว่า
มุมมองของภาครัฐ และธนาคารกลางในแต่ละประเทศยังถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญต่อความเชื่อมั่นของ cryptocurrency
โดยปัจจุบัน ประเทศที่มองว่า cryptocurrency เป็นสกุลเงินทางเลือก และยอมให้ใช้อย่างเป็นทางการมีจำนวนไม่มากนัก เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งอนุญาตให้ใช้ Bitcoin เป็นหนึ่งในรูปแบบการชำระเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีการออกใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล
อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน เนื่องจากมองว่า cryptocurrency เป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศกลับมีความเคลื่อนไหว และการส่งสัญญาณในเชิงลบอีกด้วย เช่น ภาครัฐของจีน ที่สั่งห้ามกิจกรรมการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Initial Coin Offering: ICO) และสั่งปิดบริษัทที่ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล
ด้านหน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังไม่มีการควบคุมและกำกับดูแล cryptocurrency อย่างเป็นทางการ แต่มีมุมมองในเชิงบวกต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ (FinTech)
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีการรองรับ cryptocurrency ให้เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีข้อแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงของการถือครองสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังคงให้ความสนใจในเทคโนโลยีเบื้องหลังของ cryptocurrency อย่าง blockchain ที่มีจุดเด่นด้านการตรวจสอบข้อมูลอย่างโปร่งใสมากกว่า รวมไปถึงพัฒนากฎระเบียบเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินอย่างจริงจัง เช่น การสร้าง regulatory sandbox เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจในการลงทุนเพื่อศึกษา และพัฒนาการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น
อีไอซีประเมินว่า การพัฒนา cryptocurrency เพื่อใช้ในสถาบันการเงิน และภาครัฐมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกว่าการใช้งานของบุคคลทั่วไป
โดยสถาบันการเงินรายใหญ่หลายแห่งได้เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมของธนาคาร เช่น Citi group และ MUFG ในขณะที่ภาครัฐก็มีแนวโน้มพัฒนาสกุลเงินของแต่ละประเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจ และภาครัฐสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรมและการบริหารจัดการลงได้จำนวนมาก
อีไอซีมองว่า เทคโนโลยีเบื้องหลังของ cryptocurrency อย่าง blockchain และ smart contracts มีศักยภาพและประโยชน์สูงต่อการนำมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจในอนาคต โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทำงานที่ต้องมีการตรวจสอบ และยืนยันข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กรต่างๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น
1.การนำไปใช้บันทึกประวัติการใช้งาน หรือซ่อมบำรุงเครื่องบินให้การตรวจสอบข้อมูลระหว่างการซื้อขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.การบันทึกข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์โดยที่ยังสามารถกำหนดระดับของผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
และ 3.การติดตามสถานะ และคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะอาหารสดแบบเรียลไทม์ เป็นต้น เพิ่มขึ้นมาอย่างท่วมท้น แต่อีไอซี มองว่า cryptocurrency ยังต้องเผชิญต่อความท้าทายอีกหลายอย่าง ทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ทำให้โอกาสที่คนทั่วไปจะนำมาใช้ในวงกว้างอาจไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ดี แนวคิดของ cryptocurrency อย่างเทคโนโลยี blockchain ที่เป็นรากฐานของ bitcoin นับว่ามีศักยภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด