xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผย 4 แนวทางส่งเสริมการออมทั้งระบบ หวังลดปัญหาหนี้สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลัง เผย 4 แนวทางส่งเสริมการออมทั้งระบบ หวังลดปัญหาหนี้สิน มีเงินออมใช้หลังเกษียณ โดยมีหลักประกันความมั่นคงที่เพียงพอ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางส่งเสริมการออมทั้งระบบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดทำแผนส่งเสริมความรู้ทางการเงินแห่งชาติ (วาระแห่งชาติ) โดยเสนอร่างแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงิน พ.ศ. 2560-2564 เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินระดับประเทศอย่างบูรณาการ และทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างแผนการให้ความรู้ทางการเงินฯ มีเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ เพื่อให้คนไทยตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของการบริหารการเงินส่วนบุคคล และเพื่อให้คนไทยมีความรู้ความสามารถและมีวินัยทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนว่าจะต้องเสนอแผนเข้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาหรือไม่ ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

2. การสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันหรือองค์กรการออมที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในระบบ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสหกรณ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกของสหกรณ์ 3. การเพิ่มผลิตภัณฑ์การออมและมาตรการลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และ 4. การเติมเต็มระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ กระทรวงการคลังเห็นควรปรับปรุงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น การเร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... การปรับปรุงกฎหมายของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการออมจะช่วยให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการบริหารการเงิน เพื่อให้รู้จักอดออมและใช้จ่ายอย่างเพียงพอ และเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สิน และมีเงินออม เพื่อใช้หลังเกษียณอายุอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการออมระดับชุมชน เพื่อเป็นเสาหลักทางการเงินให้กับประชาชนในระดับฐานราก รวมทั้งทำให้ระบบการออมเพื่อการชราภาพของประเทศไทย มีความครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ ได้อย่างแท้จริง และทำให้คนไทยทุกคนสามารถก้าวสู่วัยเกษียณอายุ โดยมีหลักประกันความมั่นคงที่เพียงพอ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น