xs
xsm
sm
md
lg

“โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์” เผยไตรมาส 3 ขาดทุนลดลง ผุดกำไร 49.1 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA
บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA เผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2560 บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่เป็นส่วนของ TTA อยู่ที่ 43.2 ล้านบาท จากการปรับตัวดีขึ้นของธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกอง โวเงินสดในมือและสินทรัพย์เทียบเท่ากว่า 7,000 ล้านบาท

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อัตรากำไรของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารกองเรืออย่างมีประสิทธิภาพ และความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ตลาดขนส่งสินค้าแห้งเทกองก็ปรับตัวดีขึ้น นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงกองเรือให้ทันสมัยขึ้น ณ จุดต่ำสุดของวัฏจักรของอุตสาหกรรมเดินเรือ เพื่อใช้ประโยชน์จากการปรับตัวที่มีศักยภาพของอุตสาหกรรม และบรรลุข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญแล้ว กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ซื้อเรือมือสองจำนวน 2 ลำในเดือนกรกฎาคม และตุลาคม ปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดอายุของกองเรือ หลังจากที่ได้ทำการซื้อเรือมือสองจำนวน 1 ลำในช่วงเวลาก่อนหน้าของปีนี้

“เราเชื่อว่า ธุรกิจขนส่งทางเรือจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะอุปสงค์ที่ยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุปทานที่มีอย่างจำกัด นอกจากนี้ เรากำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ และยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาจุดแข็งของเราในธุรกิจหลัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ”

ในส่วนของธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ ยังคงมุ่งเน้นให้มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พยายามที่จะต่ออายุสัญญาระยะยาวกับลูกค้ารายสำคัญในภูมิภาคที่กำลังเติบโต เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง

ด้านธุรกิจขนส่งทางเรือ ได้แก่ โทรีเซน ชิปปิ้ง กรุ๊ป หรือ TSG กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 213.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 627 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 99
 
ทั้งนี้ รายได้จากการขนส่งสินค้าในไตรมาสที่ 3/2560 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 896.3 ล้านบาท เป็นผลมากจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราค่าระวางเรือ และมีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 256.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 214 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่ 3/2560 อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ที่ 8,288 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน โดยอัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยสูงสุดในไตรมาสที่ 3/2560 อยู่ที่ 16,465 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน การที่ค่าระวางเรือปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากดัชนีบอลติค (BDI) ได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 1,137 จุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 เนื่องจากความต้องการแร่เหล็ก และถ่านหิน ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับความต้องการถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในฤดูหนาวของจีน ตามแผนปรับปรุงกองเรือเพื่อพัฒนากองเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองให้มีความทันสมัย และได้มาตรฐาน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ซื้อเรือ M.V. Thor Confidence (เอ็ม.วี. ทอร์ คอนฟิเดนซ์) และ M.V. Thor Courage (เอ็ม. วี. ทอร์ เคอริจ) เข้ามาเสริมกองเรือในเดือนกรกฏาคม และตุลาคม 2560 ตามลำดับ ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2560 กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือ จำนวน 22 ลำ โดยมีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 53,438 DWT และมีอายุเฉลี่ย 11.92 ปี

โดยสรุป ในไตรมาสที่ 3/2560 กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 74.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 133 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในส่วนของธุรกิจบริการนอกชายฝั่งของบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือ MML ในไตรมาสที่ 3/2560 กลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ ได้มีงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่างานคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากไตรมาสก่อน เป็น 174 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแผนการส่งมอบส่วนใหญ่ในปี 2561

กลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ รายงานผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 69.4 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 39.6 ล้านบาท รายได้รวมของกลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ ในไตรมาสที่ 3/2560 อยู่ที่ 976 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36 จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือในธุรกิจเรือวิศวกรรมใต้ทะเลที่ลดลง

ขณะที่รายได้จากบริการเรือวิศวกรรมใต้ทะเล และบริการวิศวกรรมใต้ทะเลแบบไม่ใช้เรือ มีส่วนแบ่งเป็นร้อยละ 61 และร้อยละ 39 ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 3/2560 ตามลำดับ อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือในไตรมาสนี้เท่ากับร้อยละ 42

สำหรับธุรกิจเรือขุดเจาะ Jack-up drilling rigs สเปกสูงสามลำของกลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ ดำเนินงานภายใต้บริษัทร่วม มีค่าเฉลี่ยการใช้ประโยชน์สูงถึงร้อยละ 100 ในไตรมาสที่ 3/2560

ส่วนกำไรขั้นต้นปรับตัวลดลงร้อยละ 59 จากไตรมาสก่อนมาเป็น 177.8 ล้านบาท เนื่องจากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลที่ลดลง สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม มีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากกลุ่มเมอร์เมด มาริไทม์ ได้รับการต่อสัญญาไปอีก 3 ปี

ขณะที่ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ของบริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ในไตรมาสที่ 3/2560 PMTA รายงานกำไรขั้นต้นที่ 215.2 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณการขายจะปรับลดลง แต่ PMTA สามารถรักษาระดับกำไรขั้นต้นไว้ได้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องมาจากการมุ่งเน้นพัฒนาตลาดในประเทศ ซึ่งมีอัตรากำไรที่มากกว่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการบริหารจัดการวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ โดยสัดส่วนการขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ในไตรมาสที่ 2/2560 มาเป็นร้อยละ 70 ในไตรมาสที่ 3/2560 PMTA รายงานผลกำไรสุทธิ จำนวน 56.9 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 39 ล้านบาท

นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการให้เช่าพื้นที่โรงงานในไตรมาสที่ 3/2560 นั้นเป็น 15.4 ล้านบาท ซึ่งความสามารถในการให้เช่ายังคงเต็มพื้นที่อยู่ที่ 100% PMTA อยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างบาคองโค 5-B และบาคองโค 5-C ซึ่งมีพื้นที่ให้เช่า จำนวน 20,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต

ส่วนของการลงทุนอื่น ๆ นั้น จะมุ่งเน้นที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการการขนส่ง ซึ่งกลุ่มการลงทุนอื่น ๆ นี้ยังคงไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรสุทธิรวม

“โดยภาพรวม ตลาดธุรกิจขนส่งทางเรือมีแนวโน้มดีขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง” นายเฉลิมชัย กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น