xs
xsm
sm
md
lg

PORT เคาะราคาขาย IPO ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น เข้าเทรดในตลาด mai วันที่ 23 พ.ย. นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


PORT เคาะราคาขาย IPO ที่ระดับ 4.50 บาทต่อหุ้น เสนอขาย 13-16 พ.ย. เข้าเทรดในตลาด mai วันที่ 23 พ.ย. นี้

บมจ. สหไทย เทอร์มินอล (PORT) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ระดับ 4.50 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย. 60 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 23 พ.ย. นี้

นางเสาวคุณ คุรุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PORT กล่าวว่า บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 4.50 บาทแก่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย (ซึ่งรวมถึง 6 ล้านหุ้นที่เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ในราคาเดียวกัน) บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท และพาร์ 0.50 บาท และมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 460 ล้านหุ้นซึ่งรวมถึงหุ้นไอพีโอจำนวน 120 ล้านหุ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ จะระดมทุนได้ 540 ล้านบาทในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้

บริษัทฯ วางแผนจะนำเงินที่ระดมทุนได้ในสัดส่วน 46% สำหรับการขยายธุรกิจ, 29% สำหรับชำระคืนเงินกู้คืนหนี้ และ 25% เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“เรามั่นใจว่า ภายหลังการระดมทุน บริษัทฯ จะมีศักยภาพทางธุรกิจและการเงินมากยิ่งขึ้น และด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุน การลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาล การขยายตัวของการส่งออก และนำเข้า บริษัทฯ จะได้ประโยชน์โดยตรงจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีกลยุทธ์ที่จะขยายบริการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำระบบซอฟต์แวร์เข้ามาใช้มากขึ้น” นางเสาวคุณ กล่าว

บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการด้านท่าเรือ และลอจิสติกส์ที่ครบวงจร สำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) และด้วยที่ตั้งที่ปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านลอจิสติกส์ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์

สำหรับบริการแบบครบวงจรของ PORT ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจร สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) 2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง 3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ และคลังสินค้า โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์ และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติ และปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม 4. ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเรือพานิชย์ 2 แห่ง คือ ท่าเรือสหไทย และท่าเรือ บางกอก บาร์จ (BBT) ซึ่งเป็นบริษัทฯร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น คือ Mitsui O.S.K. Lines (MOL) โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2560 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากร ทำให้สามารถดำเนินการสินค้าขาเข้าได้ นอกจากนี้ ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับสายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PORT กล่าวว่า หุ้นไอพีโอของ PORT ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง อยู่ในธุรกิจลอจิสติกส์ที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่มีคู่แข่งน้อยรายในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก เนื่องจากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ มีทีมผู้บริหาร และพนักงาน ที่มีความสามารถ และมีอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง ยิ่งกว่านั้น บริษัทฯ มีพันธมิตรร่วมทุนที่เป็นสายการเดินเรือระดับโลกถึง 2 บริษัท

หุ้นไอพีโอ จำนวน 120 ล้านหุ้นของ บมจ. สหไทย เทอร์มินอล คิดเป็น 26.09% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ สามารถจองซื้อได้ที่ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย และผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัท หลักทรัพย์ ไทยพานิชย์ จำกัด, บริษัท หลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บมจ. หลักทรัพย์กรุงศรี และบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด ในวันที่ 13-16 พ.ย. 60 โดยหลังจากการเพิ่มทุน กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มรัตนศิริวิไล, กลุ่มคุรุจิตร, และผู้ถือหุ้นอื่น ๆ จะลดการถือหุ้นเหลือ 74% และนักลงทุนทั่วไปจะถือหุ้นประมาณ 26%

บริษัทฯ มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 841 ล้านบาทในปี 2558 และรายได้รวม 830 ล้านบาทในปี 2557 โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 25 ล้านบาทในปี 2558 และจากกำไรสุทธิ 36 ล้านบาทในปี 2557

ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 644 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้ 480 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากบริษัท บางกอก บาร์จ เทอมินอล จำกัด (BBT) มีผลประกอบการขาดทุนจากการที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานปลายปีก่อน และยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BBT ได้รับใบอนุญาต ICD แล้วนั้น ทำให้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของ BBT จะปรับตัวดีขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น