xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส. ดีเดย์ จ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าว คาดถึงมือเกษตรกร พ.ย. นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธ.ก.ส. เดินหน้าปล่อยสินเชื่อโครงการชะลอขายข้าว-รวบรวมข้าว วงเงินกว่า 70,000 ล้านบาท คาดถึงมือเกษตรกร พ.ย. นี้ เชื่อดูดซับข้าวในระบบได้ 2 ล้านตัน จากการผลิตทั้งหมด 29 ล้านตัน ช่วยดันราคาข้าวสูงขึ้น

นายนุกูล ปาระชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพและยกระดับราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยดำเนิน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/2561 และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/2561 วงเงินทั้ง 2 โครงการรวม 78,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือ 50,273 ล้านบาท และสนับสนุนด้านอัตราดอกเบี้ยอีก 831 ล้านบาท โดยคาดการณ์เม็ดเงินดังกล่าวจะถึงมือเกษตรกรภายในเดือนพฤศจิกายน 2560-มกราคม 2561 สามารถช่วยดูดซับปริมาณข้าวเปลือกไม่ให้ออกสู่ตลาดปริมาณมากเกินความต้องการประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก จากปีนี้จะมีปริมาณข้าวเข้าสู่ระบบ 29 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวเปลือกมีเสถียรภาพ และปรับราคาสูงขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 11,550-13,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,000-8,000 บาท

สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/2561 จะเป็นการจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางของตนเอง วงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 อัตราร้อยละ 90 ของราคาตลาดตามชนิดข้าวเปลือก ทั้งนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,500 บาท กำหนดวงเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร ไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ แต่กำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 5 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ โดยเริ่มจ่ายวันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2561 โดยมีเป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนเงินช่วยเหลือเป็นค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อจูงใจให้เกษตรกรได้มีการปรับปรุงคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการตากลดความชื้นก่อนนำขึ้นยุ้งฉาง อีกตันละ 1,500 บาท ซึ่งจะจ่ายพร้อมการจ่ายสินเชื่อตันละ 1,000 บาท และจ่ายให้อีกตันละ 500 บาท เมื่อเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร นำเงินมาชำระหนี้

ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/2561 เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกร ในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก และรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อนำไปจำหน่าย หรือแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มรวม 2.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท โดยสถาบันรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ปัจจุบันจ่ายสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรไปแล้ว 20 สถาบัน เป็นเงิน 1,314 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/2561 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวฯ ปีการผลิต 2560/2561 กับกรมส่งเสริมการเกษตร 3.9 ล้านราย ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริง แต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท เตรียมวงเงินไว้ 47,273 ล้านบาท

นายนุกูล ยังระบุถึงโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/2561 จากผลกระทบน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. จ่ายค่าสินไหมแล้วทั้งสิ้น 45,467 ราย คิดเป็นพื้นที่เสียหาย 400,800 ไร่ วงเงิน 500 ล้านบาท จากคาดการณ์จำนวนพื้นที่ความเสียหาย 700,000-800,000 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับกระทบน้ำท่วม และทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะสำรวจและแจ้ง ธ.ก.ส. เพื่อทยอยจ่ายเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น