xs
xsm
sm
md
lg

สกัดปั่นหุ้น IPO / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มมาพักใหญ่ เกี่ยวกับหุ้นน้องใหม่ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย เพราะอาจมีเจ้ามือปั่นในวันแรกๆที่เข้ามาซื้อขาย สำนักงานคณะกรรมกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงลงกำกับดูแลหุ้นบริษัทจดทะเบียนใหม่อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ก.ล.ต.เรียกร้องให้นักลงทุน ศึกษาข้อมูลหุ้นที่นำมาเสนอขายครั้งแรก (IPO) โดยอ่านหนังสือชี้ชวน ติดตามข่าวสารหุ้นที่สนใจจะลงทุนอย่างละเอียด

ข้อมูลในหนังสือชี้ชวนที่ ก.ล.ต.แนะนำให้ศึกษาประกอบด้วย ความเป็นมาของบริษัท ภาพรวมธุรกิจ ฐานะการเงิน ผลดำเนินงาน ปัจจัยความเสี่ยงต่อผลกระทบการดำเนินงาน รายการระหว่างกัน การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลดำเนินงานที่ช่วยให้รู้การเปลี่ยนแปลงของบริษัท

นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันและกองทุน สามารถซื้อหุ้น IPO บริษัทขนาดใหญ่ที่ระดมทุนมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทโดยไม่จำกัดจำนวนได้ และไม่ติดไซเรนต์พีเรียดหรือระยะเวลาห้ามขาย

เพราะถ้าปล่อยให้จัดสรรนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก อาจนำไปสู่การสร้างราคาหุ้น

 แม้การตื่นตัวป้องกันการปั่นหุ้นใหม่ หรือการป้องกันไม่ให้นักลงทุนตกเป็นเหยื่อหุ้น IPO ที่โม้เกินจริงอาจช้าไปหน่อย แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะเข้ามาจัดระเบียบหุ้นใหม่

หลายปีแล้วที่การกำกับดูแลหุ้นใหม่เป็นไปอย่างหละหลวม จนดูเหมือนว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลจะเป็นใจ เปิดโอกาสให้ปั่นหุ้นใหม่อย่างเสรี


 การซื้อขายหุ้นใหม่ในวันแรกๆจึงร้อนผิดธรรมชาติ ราคาเคลื่อนไหวอย่างหวือหวา ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่มากมาย และไม่มีใครออกมาเตือนถึงอันตรายการเก็งกำไรหุ้นใหม่ มีแต่การเชิญชวน

การโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้แต่การคุ้ยโม้โอ้อ้วดถึงแนวโน้มผลดำเนินงาน


 นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ตั้งสมมุติฐานราคาหุ้นใหม่ไปตามกระแส ประเมินว่าเข้ามาซื้อขายต้องสูงกว่าราคาจอง และแทบไม่มีสื่อมวลชนฉบับใด แขนงไหน วิพากษ์วิจารณ์หุ้นใหม่ เพราะถ้าไม่รับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้หุ้นบริษัทจดทะเบียนใหม่ ก็อาจรับหุ้นจองไว้เต็มกระเป๋า หรืออาจรับทั้งงบโฆษณาประชาสัมพันธ์และรับโควตาหุ้นจองใหม่ จึงงดที่จะนำเสนอภาพด้านลบของหุ้นใหม่

 เปิดซื้อขายวันแรกๆ หุ้นน้องใหม่แทบจะร้อยทั้งร้อย มีการลากราคากันระเบิดเถิดเทิง ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ ไม่ต้องกลัวถูกสื่อโจมตี โดยเฉพาะหุ้นที่มีเจ้ามือ หรือมีขาใหญ่ได้โควตาจองจำนวนมาก สามารถปั่นกันได้เต็มที่

หุ้นน้องใหม่บางตัว ราคาถูกลากขึ้นไปชนเพดาน สูงกว่าราคาจอง 200% ในวันแรก และลากขึ้นสูงกว่าจองนับร้อยเปอร์เซนต์อีกนับไม่ถ้วน

 แต่ 2-3วันต่อมา หุ้นน้องใหม่มักสิ้นฤทธิ์ มูลค่าการซื้อขายหด ราคาซึมลง กลายเป็นหุ้นที่หงอย โดยหุ้นจำนวนหนึ่ง ถูกผ่องถ่ายจากรายใหญ่ สู่นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรในวันแรกๆ และกลายเป็นเหยื่อหุ้นใหม่ที่ต้อง “ติดหุ้น” หรือแบกรับหุ้นต้นทุนสูงไว้

 ส่วนเจ้ามือหรือนักลงทุนรายใหญ่ พากันเทขายหุ้นทิ้ง โกยกำไรกลับไปนอนตีพุงสบายๆ ขณะที่ผลประกอบการหุ้นใหม่ ก่อนเข้ามาจดทะเบียน มีการแต่งตัวมาอย่างดี แสดงผลกำไรให้น่าเชื่อถือ แต่เข้ามาในตลาดหุ้นเพียงปีแรกผลดำเนินงานก็ขาดทุนเสียแล้ว หลายบริษัทขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ใครหลวมตัวเก็งกำไรและขายออกไม่ทัน ถือว่าซวยไป

 วงจรอุบาทว์ของหุ้น IPO เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางแห่งนั่นแหละตัวดี ช่วยปั้นดินให้เป็นดาว ช่วยแต่งตัวบริษัทจดทะเบียนเน่าๆเข้ามาสูบเงินจากตลาดหุ้น ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาด mai

สมคบกับเจ้าของหุ้นและนักลงทุนขาใหญ่   กินนักลงทุนรายย่อย จนร่ำรวยนับพันล้านบาท  จากการแต่งตัวหุ้นเน่าเข้าตลาด

 ค่า พี/อี เรโช ของตลาด mai ที่พุ่งขึ้นกว่า 99 เท่า และบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ประมาณ 20 แห่งที่ผลประกอบการขาดทุนติดต่อ 4 ไตรมาส เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ตลาด mai ปล่อยให้บริษัทจดทะเบียนด้อยคุณภาพจำนวนไม่น้อย หลุดเข้าไปสูบเงินนักลงทุนจนเสียหายอย่างหนัก

 การเข้มงวดในการกำกับดูแลหุ้น IPO แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ รู้ถึงปัญหาหุ้นใหม่แล้ว รู้แล้วว่า วงจรอุบาทว์หุ้นใหม่ สร้างความเสียหายให้นักลงทุนเพียงใด

หวังว่าจากนี้ไป จะไม่มีการปล่อยผี ปล่อยเจ้ามือหรือขาใหญ่ ปั่นหุ้นใหม่ตั้งแต่วันแรกที่ประเดิมเข้าซื้อขายอีกแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น