ตลาดหุ้นไทยผันผวน บวกแรงช่วงท้ายตลาดจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน-สื่อสาร คาดได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่จะเข้า ครม. พรุ่งนี้ ก่อนจะปิดที่ 1,711.74 จุด เพิ่มขึ้น 10.27 จุด หรือ 0.60% มูลค่าการซื้อขาย 5.3 หมื่นล้านบาท
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนี้ (6 พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวค่อนข้างผันผวนในภาคเช้า ก่อนจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงบ่าย จากแรงซื้อที่มีเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) ทำให้ดัชนีแตะระดับสูงสุดที่ 1,713.08 จุด ต่ำสุดที่ 1,695.67 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,711.74 จุด เพิ่มขึ้น 10.27 จุด หรือ 0.60% มูลค่าซื้อขาย 53,469.06 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายสุทธิ 271.12 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 618.14 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 36.19 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 383.20 ล้านบาท
สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ราคาปิด 91.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.75 บาท หรือคิดเป็น 3.09% มูลค่าการซื้อขายรวม 2,751.47 ล้านบาท บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ราคาปิด 58.00 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือลดลง 0.85% มูลค่าซื้อขาย 2,448.60 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ปิดที่ 186.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท หรือ 1.08% มูลค่าซื้อขาย 2,048.51 ล้านบาท
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวน โดยช่วงเช้าดัชนีปรับลดลงไป 5-6 จุด แต่ในช่วงบ่าย กลับดีดตัวเป็นบวกได้แรง ซึ่งบ่งชี้ถึงความเปราะบางของตลาด หลังจากก่อนหน้านี้เผชิญปัจจัยลบก็ทำให้มีแรงขายออกมามาก แต่เมื่อไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาก็ทำให้มีแรงซื้อกลับ ประกอบกับตลาดได้ปัจจัยจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (3 พ.ย.) ทำให้หนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน
ขณะเดียวกัน ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) รวมถึงแรงซื้อของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี่ยงชีพ (RMF) ที่เข้ามาในช่วงปลายปี
ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) ดัชนีหุ้นไทยจะยังเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway โดยต้องติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียนในช่วงสัปดาห์นี้ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งในเบื้องต้น ตลาดคาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมต่อไป มีแนวต้านที่ระดับ 1,710-1,720 จุด แนวรับที่ 1,700 จุด และ 1,690 จุด