ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลในแบบ filing และหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)
นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลของตราสารก่อนตัดสินใจลงทุน กรณีหุ้น IPO ผู้ลงทุนสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือสอบถามจากบริษัทหลักทรัพย์ ภายหลังจากผู้ลงทุนซื้อหุ้น IPO แล้ว ก็ควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นที่ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เปิดเผยผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานประจำปี หรือข่าวจากหนังสือพิมพ์ รวมถึงเข้าร่วมประชุม และใช้สิทธิออกเสียง เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย”
สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องอ่านจากหนังสือชี้ชวน ได้แก่ (1) ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับการเสนอขาย, ความเป็นมา, ภาพรวมของธุรกิจ, ฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน (2) ปัจจัยความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทได้ (3) รายการระหว่างกัน เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีการพึ่งพิงบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง และจะมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และดูแลไม่ให้มีการถ่ายเทผลประโยชน์อย่างไร และ (4) คำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะการเงิน และผลการดำเนินการ (MD&A) ที่จะช่วยให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัท
“หน้าที่หลักของ ก.ล.ต. ในการพิจารณาอนุญาต IPO คือ การดูแลให้ผู้ระดมทุนมีโครงสร้างที่เป็นไปตามหลักซีจี มีการบริหารงานที่โปร่งใส และมีระบบควบคุมภายใน และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ส่วนเรื่องความสามารถในการประกอบธุรกิจในระยะยาวถือเป็นเรื่องทางธุรกิจ ซึ่งผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง ศึกษาจากบทวิเคราะห์ หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถให้คำแนะนำที่มีมาตรฐานได้” นายประกิด กล่าวเสริม