“เดลต้า อีเลคโทรนิคส์” เผยรายได้-กำไรปีนี้ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ หลังอัตราแลกเปลี่ยนกระทบรายได้จากเงินบาทแข็งค่า พร้อมเตรียมตั้งสำรองภาษี คาดแนวโน้มธุรกิจปีหน้ากลับมาฟื้นตัว ดันรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิโตจากปีนี้ 10% ทุ่มงบลงทุนปีหน้า 1,500-1,800 ล้านบาท รุกธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และปรับปรุงสายพานการผลิต
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวว่า บริษัทประเมินว่า รายได้และกำไรในปีนี้น้อยกว่าที่คาดไว้ โดยประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่กลับเติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ 47,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิในปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 10% จากปีก่อนซึ่งทำได้ 5,500 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในส่วนของค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก และจากการตั้งสำรองจากการถูกประเมินภาษีเงินได้และเบี้ยปรับเงินเพิ่มในไตรมาส 2/2560 จำนวน 734 ล้านบาท (ปีภาษี 40-43) และสำรองเพิ่มอีก 258 ล้านบาท(ปีภาษี 44-49)
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/2560 มองว่าจะสามารถทำได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกับไตรมาส 3/2560 ซึ่งมีรายได้ 12,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เติบโตใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากยอดขายในประเทศสโลวาเกียเติบโต
“มั่นใจรายได้ในปี 2561 จะเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเติบโตประมาณ 10% จากปีนี้ เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicle) จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในปีหน้า จากเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ที่เริ่มมีการเปิดประมูลสถานีจ่ายไฟฟ้าให้แก่รถยนต์มากขึ้น โดยประเมินว่าในปีหน้าจะไม่มีภาระการตั้งสำรองจากภาษีและเบี้ยปรับเงินเข้ามาเหมือนในปีนี้ ประกอบกับบริษัทจะมีการป้องกันความเสี่ยงทางด้านค่าเงิน (Hedging) อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยรถไฟฟ้าในยุโรปมีการเติบโตค่อนข้างมาก จากการเริ่มประมูลสถานีชาร์จรถไฟฟ้ากันมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่ยอมรับ ทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นตัวสร้างการเติบโตหลักของรายได้ในปี 2561”
พร้อมกันนี้บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนในปี 2561 ไว้ที่ประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ (Robotics Automation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยรวม โดยจะใช้พื้นที่ในโรงงานเดิมในประเทศไทย และใช้ในการวิจัยและพัฒนาอีกประมาณ 500-800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตในประเทศอินเดีย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในช่วงสิ้นปี 2561 จากเดิมที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/2561 เนื่องจากทางรัฐบาลของประเทศอินเดีย ประสบปัญหาในการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าจะไม่กระทบกับรายได้ในประเทศอินเดีย เนื่องจากบริษัทมีการเช่าโรงงานเพื่อใช้ในการผลิตทดแทนอยู่ โดยการก่อตั้งโรงงาน คาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท