xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหลุดแนวรับจิตวิทยา โบรกแนะเลือกสะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปิดตลาดดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งลง 24.10 จุด ปิดที่ 1,683.43 จุด เปลี่ยนแปลง -1.41% มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 79,755.23 ล้านบาท

ฝ่ายวิเคราะห์ บล. เอเซีย พลัส ระบุภาพการปรับฐานดัชนีหุ้นไทยเกิดขึ้นหลังจากดัชนีหลุดแนวรับจิตวิทยาที่ 1,700 จุด แรงขายนำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถูก sell on fact รับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 ที่ลดลงเกือบทั้งกลุ่ม โดย KTB ลดลง 3.82%, ตามด้วย SCB ลดลง 1.66%, BBL ลดลง 1.28%, KBANK ลดลง 0.92% และ LHBANK ลดลง 0.56% ยกเว้น TMB ฟื้นตัวขึ้น 2.38% และ TISCO ฟื้นตัวขึ้น 0.30%

“น่าจะยังอยู่ในภาพการปรับฐาน แต่อาจเห็นรีบาวนด์สลับ เนื่องจากไม่มีข่าวร้าย แต่ก็ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนดัชนี นอกจากข่าวที่ กสทช. เตรียมเสนอให้ลดต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ แก่ทีวีทีวีดิจิทัล ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นกลุ่มทีวีทีวีดิจิทัลได้เพียงบางตัวเท่านั้น ไม่สามารถหนุนดัชนีรวมได้”

นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า ระบุ ตั้งแต่เดือนกันยายน ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากว่า 140 จุด จึงควรปรับฐานเพื่อขึ้นต่อช่วงปลายไตรมาส 4/60 ที่จะมีแรงซื้อจากกองทุน LTF RMF กลับเข้ามาพยุงดัชนีปลายปี

“ช่วงเช้าดัชนีพยายามจะวิ่งขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,715 จุดแต่ไม่ผ่าน การปรับฐานในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็ยังมองโอกาสที่จะสะสมหุ้นได้ พร้อมให้แนวรับ 1,685-1,690 จุด ส่วนแนวต้าน 1,700-1,710 จุด”
 
สอดคล้องกับ น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวนการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟิลลิป ระบุดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไร้ปัจจัยใหม่เข้ามาหนุน ประกอบกับนักลงทุนจับตาปัจจัยนอกประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนหลายกรณี อาทิ 1. การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงวันที่ 18-24 ต.ค. นี้

2. การดำเนินโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศหลักอื่น ๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นต้น ที่จะมีผลต่อสภาพคล่องของตลาด

และ 3. ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จะปรับลดวงเงินในพันธบัตร เพราะอาจจะทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง และมีผลกดดันต่อตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกได้ พร้อมให้แนวต้าน 1,715 จุด แนวรับ 1,685 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น