xs
xsm
sm
md
lg

ออมสิน จัดสรรเงินปันผลคืนครูลูกหนี้ดี 0.5-1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนาคารออมสิน บรรลุข้อตกลงร่วมใหม่กับกระทรวงศึกษาธิการให้รางวัลคนผ่อนชำระดี โดยจัดสรรเงินปันผลเฉลี่ยแยกตามโครงการให้ปีละ 0.5-1% สำหรับครูที่ชำระหนี้ดีครบ 12 งวดติดต่อกัน พร้อมเชิญชวนคุณครูที่มีปัญหาการผ่อนชำระเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้กลับมาเป็นหนี้ปกติ และยังได้รับเงินปันผลเฉลี่ยคืน คาดจะทำข้อตกลงใหม่ภายในปี 60

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงถึงแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูอย่างยั่งยืน ปี 2560 หรือโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค.-ชพส. เพื่อเผยถึงแนวทางการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ภายใต้แนวคิดสร้างค่านิยม เพื่อส่งเสริมและตอบแทนให้รางวัลคนดีมีวินัยทางการเงินว่า ตามที่ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตั้งแต่ปี 2542 ด้วยการรวมหนี้สินจากหลายแหล่งมาไว้ที่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว โดยการกู้เงินจากโครงการนี้ไปปิดหนี้เดิม และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน บรรเทาและลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

ต่อมา ในปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลด้านสวัสดิการ และสวัสดิภาพของสมาชิก โดยมีการจัดหาสวัสดิการด้านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อดำเนินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. มาไม่น้อยกว่า 7 โครงการ ซึ่งใช้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกัน โดยธนาคารออมสินมีการจัดสรรเงินสนับสนุนให้ สกสค. ในอัตรา 0.5-1% แยกตามแต่ละโครงการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ธนาคารออมสินได้เห็นร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานของสินเชื่อครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้แนวคิดสร้างค่านิยมส่งเสริมและตอบแทนให้คนดีมีวินัยทางการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำบันทึกข้อตกลงใหม่ร่วมกัน โดยเฉพาะการยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน ที่ธนาคารเคยจ่ายให้ในอัตรา 0.5-1% แยกตามแต่ละโครงการ เปลี่ยนมาจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (Cash Back) เข้าบัญชีครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีวินัยทางการเงิน ชำระหนี้ดีมา 12 งวดติดต่อกัน นอกจากนี้ หากครูคนใดไม่ประสงค์จะนำเงิน ช.พ.ค. มาเป็นหลักประกันต่อไปก็สามารถนำหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 700,000 บาท มาค้ำประกันแทนก็ได้ ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยธนาคารได้เร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในส่วนของครูผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ ด้วยการส่งหนังสือเชิญชวนให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ค้างชำระลงได้ ส่วนทางกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความร่วมมือแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดครูผู้กู้ ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารออมสินภายใต้เงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ 1. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ 100%, 2. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15-30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50%, และ 3. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 15% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 25%

อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วสามารถชำระเงินงวดได้ตามสัญญาเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน ธนาคารออมสินจะจัดสรรเงินเฉลี่ยคืน (Cash Back) ให้ตามอัตราที่กำหนด ขณะที่ลูกหนี้ครูที่ สกสค. ชำระหนี้แทนแล้วไม่ได้เข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ ธนาคารจะดำเนินการฟ้องคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ เงินสนับสนุนพิเศษที่ธนาคารออมสินเคยจัดสรรให้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. เดือนละประมาณ 200 กว่าล้านบาท ตามข้อตกลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเปลี่ยนไปเข้าบัญชีของครู และบุคลากรทางการศึกษาแทน ซึ่งรวมแล้วปีละกว่า 2,500 ล้านบาท รวมครูได้รับเงินคืนมากกว่า 400,000 คน ส่วนคุณครูที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด สามารถขอเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระของคุณครู และสามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น