PwC ประเทศไทย เผยเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ และการจัดทำรายงานทางการเงิน โดยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) จะถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการรายงานทางการเงิน พร้อมแนะนักบัญชี และผู้บริหารทำความเข้าใจมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ เรื่องการรายงานรายได้ในการดำเนินธุรกิจของกิจการ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และสัญญาเช่า เพื่อรู้ทันผลกระทบ และสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand Symposium 2017 ในหัวข้อ “รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และเตรียมตัวรับมือความท้าทายทางบัญชีในยุคดิจิทัล” (Dealing with accounting challenges, thriving on disruption) ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อลักษณะการทำธุรกิจ และส่งผลให้การจัดทำรายงานทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยหลายกิจการได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานมากขึ้น เช่น ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) เป็นต้น
“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการจัดทำบัญชี วิเคราะห์ ตรวจจับความผิดปกติของข้อมูล ช่วยลดการทำงานซ้ำๆ หรืองานประเภท Routine งานที่ใช้เวลาเยอะๆ หรือใช้การตัดสินใจน้อย แต่เทคโนโลยีจะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานของนักบัญชีได้อย่างเต็มที่ เพราะความรับผิดชอบ และความสามารถในการตัดสินใจที่ต้องอาศัยประสบการณ์ยังคงเป็นหัวใจหลักของการทำงานด้านบัญชีอยู่” นายชาญชัย กล่าว
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินกิจการ และมีอิทธิพลต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้การรายงานทางการเงินเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้มีการนำเสนอแนวคิด และหลักการใหม่ๆ เพื่อให้สะท้อนภาพที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจ และรายการทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และด้วยมุมมองที่มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น ทั้งในส่วนของผลประกอบการของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ หรือผลประกอบการด้านอื่นๆ
สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ได้แก่ การรายงานรายได้ในการดำเนินธุรกิจของกิจการ จากเดิมรายได้จะถูกรับรู้ตามหลักการโอนความเสี่ยง และผลตอบแทนในสินค้าไปยังผู้ซื้อ แต่ของใหม่รายได้จะถูกรับรู้ตามหลักการการควบคุม โดยต้องสะท้อนถึงการโอนการควบคุมสินค้า หรือบริการให้แก่ลูกค้า ด้วยจำนวนเงินที่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการที่ได้ทำการโอนไปแล้ว เพื่อให้เกิดการเข้าใจได้ และการเปรียบเทียบกันได้ของงบการเงิน
ในส่วนของค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยในอนาคตจะถูกกำหนดให้รับรู้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน โดยกิจการต้องมีการประมาณการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น ณ ขณะที่มีการรับรู้รายการลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยจะต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์ไปยังอนาคต (Forward-looking information) เช่น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน หรืออัตราการว่างงาน เพื่อพิจารณาบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ด้วย ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีการรับรู้ค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ที่เร็วขึ้น และรับรู้ด้วยจำนวนเงินที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การจัดทำงบการเงินเกี่ยวกับสัญญาเช่า ด้านผู้เช่าก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมกำหนดให้กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่า ระหว่างสัญญาเช่าการเงินและสัญญาเช่าดำเนินงานซึ่งมีวิธีการทางบัญชีที่แตกต่างกัน แต่ของใหม่ไม่มีการจัดประเภทสัญญาเช่าอีกต่อไป และจะต้องรายงานตามข้อกำหนดที่ให้แสดงหนี้สินตามสัญญาเช่าในงบการแสดงฐานะการเงินของผู้เช่า จึงคาดการณ์ได้ว่า หนี้สินที่เกิดจากสัญญาเช่าจะเพิ่มขึ้นมา และส่งผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่ออัตราส่วนทางการเงินของหลายกิจการ เช่น ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) ลดลง และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E ratio) เพิ่มขึ้น เป็นต้น
“จะเห็นได้ว่า พัฒนาการทางการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สะท้อนต่อผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นนี้ ทำให้นักบัญชีต้องเร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และตามมาตรฐานเหล่านี้ให้ทัน ยิ่งไปกว่านั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างนักบัญชีที่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ กิจการที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อรายงานทางการเงินของกิจการ และทำการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการรายงานตัวเลขรายได้ และผลการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นต่อบริษัทในการรับมือต่อความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น”
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ด้วยความที่ปัจจุบันปริมาณของข้อมูลมีจำนวนมากมายมหาศาล และรายการมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริหารจึงจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจ และเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสมต่อสภาพกิจการ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรายงานทางการเงินได้ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจได้อย่างทันเวลา ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการต่อความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความรวดเร็วในการตัดสินใจในการรับมือ และจัดการต่อความเปลี่ยนแปลงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่กิจการที่มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์มากกว่า