ก.ล.ต. เผยสถิติการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตั้งแต่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งไปแล้วจำนวน 8 คดี 21 ราย นำเงินส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวนกว่า 50 ล้านบาท
นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ระยะเวลาประมาณ 10 เดือนที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยดำเนินการไปแล้วจำนวน 8 คดี กับผู้กระทำผิด 21 ราย ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ความผิดที่ดำเนินการได้แก่ ความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในก่อนเปิดเผยต่อประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นเงินค่าปรับทางแพ่ง จำนวนกว่า 31 ล้านบาท และให้ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ จำนวน 19.6 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ก.ล.ต. นำส่งให้กระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมดจำนวนกว่า 50 ล้านบาท
มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นทางเลือกในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ ที่ช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมโดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมในการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง แต่หากพบว่า ผู้กระทำความผิดไม่ชำระเงิน หรือชำระไม่ครบถ้วนตามที่ได้ยินยอมไว้ หรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต. สามารถร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อบังคับคดีได้ และยังสามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาได้ในกรณีที่ไม่ยอมชำระเงิน
“ความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ในเรื่องอื่นที่เป็นความผิดร้ายแรง เช่น การทุจริต การระดมทุน หรือประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ยังคงต้องดำเนินคดีอาญาโดยกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การพิจารณาของศาลต่อไป” นายสมชายกล่าว