“THBA” คาดมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านปีนี้ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ชื้ไตรมาส 2-3 ปรับตัวดีขึ้น ทั้งปริมาณ และมูลค่า เผย 3 ปัจจัย 1. การขอใช้สินเชื่อกลับมาขยายตัว 2. ความต้องการสร้างบ้าน 5-10 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่ม 3. ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะตามไลฟ์สไตล์มากขึ้น คาดไตรมาส 4 ขยายตัวใกล้เคียงไตรมาส 3 ชี้แข่งขันยังสูง หลังพบรายใหญ่รายเล็กโหมแคมเปญลดราคา 10-30% สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจ ระบุปัญหาแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ กดกำลังซื้อ ทำให้ต้องชะลอการก่อสร้างออกไป ยอมรับฝนตกน้ำท่วมขัง เพิ่มภาระต้นทุนผู้ประกอบการ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) กล่าวว่า ความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคประเภท “บ้านเดี่ยวสร้างเอง” ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบไตรมาส 2 ทำให้ปริมาณและมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ที่แข่งขันอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตัวเลขยอดขายก็เติบโตตามกัน สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยของการเติบโต คือ 1. การขอใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านเริ่มกลับมาขยายตัว 2. ความต้องการสร้างบ้านระดับราคา 5-10 ล้านบาท มีสัดส่วนขยายตัวเพิ่มขึ้น และ 3. ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะตามไลฟ์สไตล์มากขึ้น
ขณะที่สัดส่วนการขอกู้ยืมเงินหรือสินเชื่อปลูกสร้างบ้านของผู้บริโภคพบว่า ความต้องการเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ภายหลังจากที่ชะลอตัวมาระยะหนึ่ง รวมถึงความต้องการสร้างบ้านกลุ่มระดับราคา 5-10 ล้านบาท ก็มีสัดส่วนเติบโตกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนในช่วงไตรมาส 4 คาดว่า น่าจะยังขยายตัวใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสาน และภาคเหนือ จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่กำลังซื้อค่อนข้างซบเซา ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่ากำลังซื้อ และความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคยังทรงตัว ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาดรวมปี 60 มีมูลค่าประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท
ส่วนภาพรวมการแข่งขันไตรมาส 3 พบว่า ตลาดมีการแข่งขันราคากันค่อนข้างรุนแรง ประเมินได้จากการโหมกันจัดโปรโมชันลดราคาบ้าน 10-30% ของบรรดาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์การขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจการต่อรองสูง ขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายเล็ก และรายใหม่ เน้นกลยุทธ์ตัดราคา เพราะไม่อาจแข่งขันในเรื่องของประสบการณ์ ผลงาน และความน่าเชื่อถือ โดยมุ่งเจาะตลาดบ้านขนาดเล็กราคา 1-2 ล้านบาทในต่างจังหวัด โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเลือกใช้สื่อโฆษณาออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก ปัจจุบัน กลุ่มนี้เข้ามาแข่งขันในตลาดจำนวนมาก จนผู้บริโภคเองเริ่มสับสน เพราะว่าแทบไม่แตกต่างกับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป
สำหรับ แหล่งที่มาของเงิน หรืองบประมาณค่าก่อสร้างของผู้บริโภค ซึ่งเกิดจาก 2 ส่วน คือ 1. เงินสด หรือเงินออม และ 2. เงินกู้ยืมหรือสินเชื่อธนาคาร แต่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงิน มีความระมัดระวังในปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างมาก กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ให้ผู้บริโภคถูกปฏิเสธสินเชื่อ หรือได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ไม่เพียงพอกับค่าก่อสร้าง ทั้งที่จริงแล้ว ต้องการกู้ยืมเงินเฉพาะค่าก่อสร้างบ้านเท่านั้น (ที่ดินปลอดภาระ) ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านกลุ่มนี้ชะลอตัวลง ปัญหาอีกประการที่พบ คือ ในช่วง 3 เดือนปีนี้มีฝนตกชุกทั่วประเทศ หลาย ๆ จังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่งผลทำให้งานก่อสร้างที่ต้องหยุดชะงัก หรือไม่สามารถก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการก่อสร้างต้องยืดเยื้อออกไป ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มไตรมาส 4
นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า สำหรับปีนี้ คาดว่าปริมาณบ้านเดี่ยวสร้างเองทั่วประเทศมีจำนวน 6 หมื่นหน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปลูกสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 หมื่นหน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่า 45,000-50,000 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 2.2-2.5 ล้านบาท) และปลูกสร้างในต่างจังหวัด จำนวน 40,000 หน่วยเศษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 75,000-80,000 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 1.8-2 ล้านบาท) ขณะที่ธุรกิจรับสร้างบ้านมีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 8,000 ล้านบาท และต่างจังหวัด 6,000 ล้านบาท โดยเหตุที่ธุรกิจรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดต่างจังหวัดน้อยกว่า เป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้บริการกับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป
ทั้งนี้ การขยายตัวของตลาด 9 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ายังไม่น่าพอใจ เพราะฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตลาดฟื้นตัวค่อนข้างช้า แต่ยังดีที่ไตรมาส 3 กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น และถือเป็นสัญญาณที่บวกต่อการขยายตัวของตลาดในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม บรรยากาศและความรู้สึกของผู้บริโภค และประชาชน ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ อาจไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ๆ ซึ่งคงต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งในช่วงเดือนสุดท้ายของปี
แนะปรับตัว
นายสิทธิพร กล่าวว่า ปีนี้ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้าน พบว่ามีการแข่งขันราคากันดุเดือดพอสมควร โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดในกลุ่มราคาบ้าน 1-2 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 8,000 ล้านบาท พบว่ามีผู้ประกอบการทำการตลาดและแข่งขันกันอยู่เกือบ 100 ราย โดยเน้นเจาะตลาดราคาบ้าน 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1. กลุ่มราคาบ้าน 2-10 ล้านบาท 2. กลุ่มราคาบ้านราคา 10-20 ล้านบาท และ 3. กลุ่มราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มราคาบ้าน 2-10 ล้านบาท มีจำนวนผู้ประกอบการร่วมแข่งขันชิงแชร์ส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้มากที่สุด ขณะที่กลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีการแข่งขันต่ำสุดในกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน ตลาดกลุ่มนี้จึงตกอยู่กับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป
สำหรับกลุ่มราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป แม้ว่าจะมีปริมาณและความต้องการปลูกสร้างบ้านต่อปีเพียงไม่กี่หน่วย แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่มานาน และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจำนวนมากกว่า 10 ราย ต่างหันมารุกเจาะตลาดกันมากขึ้นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะต้องการจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคากับกลุ่มแรก นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่อย่าง SCG ที่แตกไลน์มาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างทันสมัย และกระโจนเข้าร่วมแข่งขันชิงแชร์ราคาบ้านระดับบนกลุ่มนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าทุกเซ็กเม้นท์ของตลาดรับสร้างบ้าน ไม่อาจหนีพ้นการแข่งขันที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคา หรือสงครามราคา
“หนทางที่ผู้ประกอบการจะหลีกเลี่ยงสงครามราคาที่ดีที่สุด คือ การสร้างจุดเด่น หรือจุดแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งจุดยืนองค์กรให้มีความชัดเจน และควรเลือกว่าจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใด มิควรทำการตลาดและแข่งขันแบบคลอบคลุมทุกตลาด เพราะในระยะยาวจะเสียเปรียบคู่แข่งที่มีความชัดเจน”