xs
xsm
sm
md
lg

“สหไทย เทอร์มินอล” เดินหน้าพร้อมเข้าตลาดฯ mai ระดมทุนขยายธุรกิจ รับอานิสงส์ EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT และ บัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
“สหไทย เทอร์มินอล” เตรียมระดมทุนในตลาด mai ระดมทุนขยายกิจการเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์ครบวงจร รองรับการส่งออกเติบโตสูง และอุตสาหกรรมขยายตัวแรงตามยุทธศาสตร์ EEC ชูจุดแข็งโลเคชันดี มีความพร้อมด้านการให้บริการ และมีความแข็งแกร่งด้านพันธมิตรจากการร่วมทุนกับ 2 สายการเดินเรือใหญ่ระดับโลก

นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT กล่าวว่า จุดประสงส์ของการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหุ้น mai ในครั้งนี้เพื่อที่จะขยายการลงทุนรองรับการเติบโตของการลงทุนโดยภาครัฐสำหรับโครงการ EEC และ Mega Projects ต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกและนำเข้าสินค้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 170 ล้านบาท (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท)

ทั้งนี้ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการท่าเรือเอกชนครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย ให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์สำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งชายฝั่ง (Barge) โดยท่าเรือของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจลอจิสติกส์ของประเทศ (อำเภอปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ)

ขณะที่นายบัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 841 ล้านบาทในปี 2558 และรายได้รวม 830 ล้านบาทในปี 2557 โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 25 ล้านบาทในปี 2558 และจากกำไรสุทธิ 36 ล้านบาทในปี 2557

ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 644 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้ 480 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากบริษัท บางกอก บาร์จ เทอมินอล จำกัด (BBT) มีผลประกอบการขาดทุนจากการที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานปลายปีก่อน และยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BBT ได้รับใบอนุญาติ ICD แล้วนั้น ทำให้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ผลการดำเนินงานของ BBT จะปรับตัวดีขึ้นต่อไป

ขณะที่นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า การเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปของ PORT จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เนื่องจากธุรกิจท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ขณะที่มีคู่แข่งน้อยราย เนื่องจากมีอุปสรรคในการเข้ามาในอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง จากการที่พื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นท่าเรือมีค่อนข้างจำกัด กอปรกับบริษัทฯ มีทีมผู้บริหารที่เชี่ยวชาญในธุรกิจ มีการลงทุนในเทคโนโลยี อุปกรณ์ระดับสูง และยังมีพันธมิตรเป็นสายการเดินเรือระดับโลกถึง 2 ราย จึงมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี

“เราได้วางแผนที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) จำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.09% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจำนวน 6 ล้านหุ้นจะถูกจัดสรรให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ที่ราคาเสนอขายหุ้น IPO โดยหลังจากการระดมทุนแล้ว PORT มีแผนจะนำเงินที่ได้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิภายหลังการสำรองกำไรสะสมตามที่กฎหมายกำหนด และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามนโยบายของบริษัทฯ"

ปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่

1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจร สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot)

2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง

3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติ และปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม

4. ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น Mitsui O.S.K. Lines (MOL) เพื่อจัดตั้งบริษัทฯ ร่วมทุนชื่อ บริษัท บางกอก บาร์จ เทอร์มินอล จำกัด (BBT) โดยในเดือนกรกฎาคมปี 2560 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการสินค้าขาเข้าได้

นอกจากนี้ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับสายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง จึงมั่นใจว่า บริการท่าเรือของ PORT มีมาตรฐานระดับโลก ด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพียบพร้อม และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น