xs
xsm
sm
md
lg

เตือนลงทุนเงินดิจิทัลมีความเสี่ยง ธปท. แนะต้องศึกษาให้รอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ผู้ว่าการ ธปท. เตือนลงทุนเงินดิจิทัลมีความเสี่ยง ต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย พบประชาชนลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ และตราสารหนี้ไร้เรตติ้งลดลง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ประชาชนกล้าเสี่ยงที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์, เงินสกุลดิจิทัล, ตราสารหนี้ และตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร ซึ่ง ธปท. มีการติดตามมาโดยตลอด และได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นระยะ โดยเฉพาะการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล เช่น วันคอยน์, บิตคอยน์ ประชาชนควรระมัดระวัง และศึกษาข้อมูล รายละเอียดให้รอบคอบ เพราะสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดยอมรับ หรือรับรองว่า เงินสกุลดิจิทัลเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ดังนั้น ก่อนการลงทุนขอให้ประชาชนศึกษาว่ามีการนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ สินทรัพย์ประเภทไหน ถึงให้ผลตอบแทนสูงได้ มีหน่วยงานใดเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อเข้าใจความเสี่ยง เพราะถ้าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ราคาต้องมีเสถียรภาพ

“เราต้องเข้าใจความเสี่ยงว่า เค้าเอาเงินของเราไปลงทุนอะไร ทำไมถึงให้ผลตอบแทนสูง เราต้องไม่ประมาท ต้องรู้จักประเมินความเสี่ยง ศึกษาด้วยว่ามีหน่วยงานใดและใครเป็นผู้กำกับดูแล” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำกับการลงทุนที่เป็นจุดเปราะบางเหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงลดความร้อนแรงลง ทั้งขนาดการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีมูลค่าลดลง ขนาดสินทรัพย์ในสหกรณ์ออมทรัพย์ก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจและมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท. มีมาตรการแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ส่วนความคืบหน้าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ และ การใช้คิวอาร์โค้ดในการชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่ามียอดทำธุรกรรมสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์สะสมอยู่ที่ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยเฉพาะยอดการโอนเงินพร้อมเพย์ในช่วงสิ้นเดือนที่การใช้สูงมาก แต่ยังสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบัน การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ถึง 10 เท่าต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น