เวิลด์แบงก์ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากการส่งออก และการลงทุนตามโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอนาคต คาดปี 60-62 โตได้ 3.6-3.8% ขณะที่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศหลัก-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ด้าน ผอ. สศค. ชี้หลังแจกบัตรคนจนเสร็จจะเห็นการบริโภคที่เพิ่มชัดเจนขึ้น
จากรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ของธนาคารโลก (WORLD BANK) ระบุว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก โดยประมาณการเศรษฐกิจเติบโตที่ 6.4% สูงขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ และจากปีก่อนที่เติบโต 6.3% เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตที่เติบโตกว่าที่คาดไว้ที่ 6.7% เท่ากับปีก่อนหน้า ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเติบโตสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 5.1% ในปีนี้ และที่ 5.2% ในปี 2561 สูงขึ้นจากระดับ 4.9% ในปี 2559 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลายประการจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตที่ดี ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าบางประเทศ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งจากกรณีคาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้ ก็อาจจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศที่มีความสำคัญกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่อาจเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหลายประเทศในภูมิภาคยังคงมีความเปราะบางในภาคการเงินจากหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง-หนี้ที่ไม่มีคุณภาพสูง และหลายประเทศยังคงขาดดุลการคลังสูง หรือกำลังขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น
“แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นนับเป็นโอกาสสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะลดความเปราะบางในด้านต่าง ๆ และดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลดีอย่างเต็มที่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการขยายความร่วมมือในภูมิภาคให้มากขึ้น ยังคงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ” นายชูเดียร์ลี แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
สำหรับประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเวิลด์แบงก์ว่าจะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ 3.7-3.8% ในปี 2560 -2562 เป็นผลมาจากการส่งออกที่มีเข้มแข็งขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่นโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายเพื่อเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการกำกับดูแลสถาบันการเงินก็ยังเข้มงวดต่อไป ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีเพิ่มขึ้น
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออก และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น รวมถึงโครงการบัตรประชารัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย ก็จะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย ที่จะช่วยให้เงินลงไปถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในเดือนนี้ หลังจากกระจายบัตรจนครบ แต่เป็นการดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น