xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน จับตาเงินทุนไหลเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน เห็นการจ้างงานเพิ่มในภาคส่งออก ยังจับตานโยบายการเงินสหรัฐฯ และความตึงเครียดเกาหลี กดดันเงินทุนไหลเข้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 3.5 และปรับจีดีพี ปี 2561 เพิ่มเป็นโตร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 3.7 สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ขยายตัวทุกหมวดสินค้า และในตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวดี ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ประกอบกับการบริโภคฟื้นตัว ทำให้ กนง. ปรับเพิ่มจีดีพีครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ในกลุ่มภาคการส่งออก มีสัญญาณดีขึ้น และการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่มีการปรับลดลง อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนมีฐานสูง เพราะเผชิญสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลง

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงแข็งค่าขึ้น เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ซึ่งยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด โดยเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้า-ออก มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับมุมมองต่อเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ ความคืบหน้านโยบายการเงินของสหรัฐฯ การปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ การลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีผลทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงโยกเงินเข้ามาในตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่ไหลเข้ายังเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำด้วยว่าการดำเนินนโยบายการเงินต้องมองใน 3 มิติ คือ 1. เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค ไม่ต้องการให้อัตราเงินเฟ้อปรับเร่งตัวขึ้นเร็ว 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เต็มศักยภาพ 3. เสถียรภาพด้านการเงินต้องยั่งยืน เพราะหากอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้ประชาชนลดการออม และหันไปแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินต้องติดตามสถานการณ์รอบด้าน หากมีความจำเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเครื่องมือที่พร้อมจะเข้ามาดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น