“เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น” เชื่อมั่นนักลงทุนจะให้การตอบรับดี หลังเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ พร้อมอยู่ระหว่างลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และญี่ปุ่น เพิ่มอีก 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 122.4 MW คาดทยอย COD ตั้งแต่ไตรมาส 4/60 ถึงไตรมาส 2/63 ช่วยหนุนการเติบโต จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดลพบุรี COD แล้ว 1 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW กำลังการผลิดติดตั้ง 52 MW พร้อมตั้งเป้าปี 2563 ขยายโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครบ 200 MW
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งใน และต่างประเทศ (Holding Company) เปิดเผยว่า ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในวันที่ 27 กันยายน 2560 โดยใช้ชื่อย่อ “SSP” ในการซื้อขาย และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจที่ดีจากนักลงทุน หลังจากที่เสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 276,375,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ในราคาหุ้นละ 7.70 บาท
“ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ในจังหวัดลพบุรี มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 52 MW ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm มีอายุสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่ม COD”
ทั้งนี้ หลังจากเข้าระดมทุน บริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และญี่ปุ่น เพิ่มอีก 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 122.4 MW และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 98 MW แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และยังไม่เริ่มก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ อผศ. ในจังหวัดราชบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 5 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff (FiT) 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 25 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 4/61
ส่วนในประเทศญี่ปุ่น มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างลงทุน จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 47 MW ได้แก่ 1. โครงการฮิดะกะ ในจังหวัดฮอกไกโด ปริมาณพลังงงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 17 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/61 และ 2. โครงการยามากะ ในจังหวัดคุมาโมโต ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ยังไม่ก่อสร้าง 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 36 MW ได้แก่ 1. โครงการโซเอ็น ในจังหวัดคุมาโมโต ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 6 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 4/61 และ 2. โครงการลีโอ ในจังหวัดชิซุโอกะ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาขั้นต้นอีก 1 โครงการ คือ โครงการยามากะ มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 10.0 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสนใจเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SNNP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในจังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 384 กิโลวัตต์ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 460,984 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และโครงการ SNNP 2 ที่อยู่ระหว่างพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างในจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 998 กิโลวัตต์ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 1,122,279 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราตามค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจาก กฟภ. และค่า Ft ขายปลีกเฉลี่ย โดยมีบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะ COD ในไตรมาส 4/60
“เราให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563”
นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในนามตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของ SSP น่าจะได้รับผลดีจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2559) จาก 129,583 ล้านหน่วย เป็น 181,050.5 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.6 ต่อปี รองลงมา คือ ภาคครัวเรือน
ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2558-2579 (แผน PDP 2015) ได้ประมาณอัตราการเติบโตเฉลี่ยของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ดังนั้น แผน PDP 2015 จึงกำหนดแนวทางการจัดสรรกำลังการผลิตไฟฟ้า และกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงให้มีกำลังการสำรอง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15.0 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ และกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิดในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน