xs
xsm
sm
md
lg

“เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ” พร้อมเข้าเทรดวันแรก 27 ก.ย. นี้ เผยยอดจอง IPO ล้น 9.5 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


SSP พร้อมเข้าเทรดวันแรก 27 ก.ย. นี้ ในตลาดหลักทรัพย์ mai เผยยอดจอง IPO ล้น 9.5 เท่า

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกในวันที่ 27 ก.ย. ใช้ชื่อย่อ “SSP” ในการซื้อขาย หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 276,375,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 30% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ในราคาหุ้นละ 7.70 บาท โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ประมาณ 9.5 เท่า

ทั้งนี้ SSP แบ่งธุรกิจเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น

ปัจจุบันมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ในจังหวัดลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 52 MW และมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm มีอายุสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่ม COD

บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และญี่ปุ่น รวม 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 122.4 MW และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 98 MW แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และยังไม่เริ่มก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ อผศ. ในจังหวัดราชบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 5 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff (FiT) 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 25 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4/61

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างลงทุน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 47 MW ได้แก่ 1. โครงการฮิดะกะ ในจังหวัดฮอกไกโด ปริมาณพลังงงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 17 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/61 และ 2. โครงการยามากะ ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแต่ยังไม่ก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 36 MW ได้แก่ 1. โครงการโซเอ็น ในจังหวัดคุมาโมโต ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 6 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 4/61 และ 2. โครงการลีโอ ในจังหวัดชิซุโอกะ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาขั้นต้นอีก 1 โครงการ คือ โครงการยามากะ มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 10.0 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสนใจเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SNNP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในจังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 384 กิโลวัตต์ และโครงการ SNNP 2 ที่อยู่ระหว่างพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างในจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 998 กิโลวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราตามค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจาก กฟภ. และค่า Ft ขายปลีกเฉลี่ย โดยมีบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะ COD ในไตรมาส 4/60

“เราให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับสู่บริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม” นายวรุตม์ กล่าว

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของ SSP จะได้รับผลดีจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยและในประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น