xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประชุม กนง. 27 ก.ย. นี้ แบงก์ชาติร่วมมือสะกัดการเก็งกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติ เผยดำเนินนโยบายการเงินให้อยู่ในจุดสมดุล มีการทบทวนเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ จับตาประชุมกนง. 27 ก.ย. นี้ รับอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนจึงหันไปลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ แทนการฝากเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า พร้อมร่วมมือกับหน่ายงานอื่นในการกำกับดูไม่ให้เกิดการเก็งกำไร

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ได้มีการทบทวนให้ทันกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติของธนาคารกลางจะต้องกำกับดูแลนโยบายให้ได้จุดที่สมดุลมากที่สุด ทองภาพรวมเป็นวงกว้างรอบด้าน และมองไปข้างหน้า ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย. 60 จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายทางการเงินว่าจะดำเนินการอย่างไร

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือกับหลายหน่อยงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นนำมาปรับปรุงแก้ไขในการกำกับดูแล ทั้งกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ได้ทำทุกด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ผลตอบแทนเรื่องของเงินฝากน้อยมาก เงินออมในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ประชาชน และนักลงทุน จึงหันไปลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ อาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝาก ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิต

จาการติดตามตลาดเงินตลาดทุนอย่างใกล้ชิต พบว่า บางช่วงมีการเก็งกำไรกันบ้าง ซึ่ง ธปท. ได้เข้าไปกำกับดูแลทันที เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรที่จะเป็นผลเสียหายกับระบบการเงิน นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่อยงานอื่น ๆ ที่คอยกำกับดูแลตลาดเงินตลาดทุนโดยเฉพาะ เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะเข้ามาดูแลไม่ให้เงินการเก็งกำไร และเป็นผลเสียหายกับระบบ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. BOT Symposium 2017 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่” ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ผลิตภาพ เพราะผลิตภาพสะท้อนถึงความสามารถในการจัดการ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งหัวใจของผลิตภาพ คือ นวัตกรรม เพราะนวัตกรรม คือ การขยายขอบเขตของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัตถุหรือเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ การพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยต้นทุนเท่าเดิม

แต่นวัตกรรมโดยลำพังอาจไม่เพียงพอ หากกระบวนการถ่ายทอดไม่สามารถส่งผลให้นวัตกรรมเหล่านั้นหยั่งรากลงในระบบเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง การที่อัตราการขยายตัวของผลิตภาพในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงจากนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการถ่ายทอดนวัตกรรม ผลิตภาพในระดับประเทศขยายตัวได้ช้า เพราะนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปยังเศรษฐกิจในวงกว้าง

“โจทย์ใหญ่ที่หลายประเทศรวมทั้งไทยเผชิญ จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หันมาปรับโครงสร้าง ยกระดับกระบวนการผลิตให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งสนับสนุนการถ่ายโอนทรัพยากรจากธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงกว่า ความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการจัดสรรทรัพยากรเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ และของคนในสังคม นวัตกรรมที่ทรงพลัง จึงต้องเกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการถ่ายทอดนวัตกรรม และระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ดี” นายวิรไท ระบุ

ดังนั้น การขับเคลื่อนนวัตกรรมต้องอาศัยปัจจัยเกื้อกูล 2 ประการ คือ 1. พลวัตของการเปลี่ยนแปลง และ 2. ความอดทนอดกลั้นเพื่อหวังผลในระยะยาว ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ และทัศนคติของเราเอง

ภาครัฐรวมทั้ง ธปท. เองจะต้องสนับสนุนพลวัตของการเปลี่ยนแปลงโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้าง และถ่ายทอดนวัตกรรม สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ป้องกันการผูกขาด ที่สำคัญ ภาครัฐเองต้องมีกระบวนการทบทวน และประเมินผลกระทบของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะออกใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย ยุ่งยาก และซับซ้อน จะถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิต และดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นว่าต้องพึ่งแหล่งเงินทุนที่มีความต่อเนื่องแน่นอนในระยะยาว แต่ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ การลงทุนของภาครัฐในลักษณะนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจเห็นโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้

“ภาคธุรกิจจะลงทุนก็ต่อเมื่อมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากเทคโนโลยีต่าง ๆ การลงทุนของภาครัฐสามารถช่วยให้ภาคเอกชนเห็นว่า โอกาสนั้น มีอยู่จริง ดังนั้น โจทย์สำคัญของภาครัฐ จึงไม่ได้อยู่ที่การลดต้นทุนทางการเงิน หรือภาษีของการลงทุนให้เอกชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจกล้าที่จะลงทุน และมีความต้องการที่จะลงทุนใหม่ด้วย” นายวิรไท กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากการแก้ไขกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์แล้ว ภาครัฐสามารถมีบทบาทช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการลงทุนส่งเสริมนวัตกรรมระดับแนวหน้า และเพิ่มพูนศักยภาพของเอกชน ภาครัฐไม่ควรมุ่งแต่จะซ่อมแซมเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ควรมุ่งที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในอนาคต โดยการเพิ่มความสามารถของกลไกตลาดที่จะขับเคลื่อนการลงทุนในระยะยาวด้วย ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน เป็นองค์ประกอบสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจที่ตามมา

นอกจากบทบาทในการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อม บุกเบิก และผลักดันกลไกตลาดแล้ว ภาครัฐอาจเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวของโอกาสทางธุรกิจด้วยการถ่ายทอดนวัตกรรม เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม มีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งประชาชนฐานรากมีส่วนร่วมมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น