บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น UMS เพิ่งแจ้งการรับความช่วยเหลือทางการเงินจากบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TTA ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน
เนื่องจากทั้งสองบริษัท มี นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ลูกชาย นายประยุทธ์ มหากิจศิริ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ถือหุ้นใหญ่
การรับความช่วยเหลือทางการเงินของ ยูนิค ไมนิ่งฯครั้งนี้ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท โทรีเซนไทยฯ ซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงจากการให้ความช่วยเหลือบริษัทของกลุ่มมหากิจศิริ
ยูนิค ไมนิ่งฯเคยกู้เงินจาก โทรีเซนไทยมาแล้ว ในวงเงิน 570 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2560 แต่จะขอยืดเวลาการชำระออกไปแบบไม่มีกำหนด นอกจากนั้น ยังจะขอกู้อีกจำนวนไม่เกิน 430 ล้านบาท โดยกำหนดใช้คืนเมื่อมีสภาพคล่อง หรือเมื่อถูกทวงถาม
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งวงเงินกู้เดิม 570 ล้านบาท และวงเงินกู้ใหม่ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 430 ล้านบาท เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีหลักประกัน ผู้ถือหุ้น TTA จึงแบกรับความเสี่ยงเต็มประตู
TTA มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 23,864 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 72.17% ของทุนจดทะเบียน ส่วนกลุ่มมหากิจศิริ ถือหุ้นในสัดส่วน 20% เศษ
ขณะที่ UMS ซึ่งจดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 1,527 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 8.58% ของทุนจดทะเบียน ขณะที่ บริษัท อะธีน โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 90.11% ของทุนจดทะเบียน
แม้โทรีเซนไทยฯจะถือหุ้นใหญ่ใน อะธีน โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 99.99% แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในโทรีเซนไทยตัวจริงคือผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 23,864 ราย และเป็นเจ้าของเงินที่จะใส่เข้าไปใน UMS
ถ้าจะมองว่า UMS เป็นบริษัทลูกของ TTA ก็คงมองได้ แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TTA ไม่มีส่วนเข้าไปร่วมบริหารใน UMS แต่นายเฉลิมชัยเป็นผู้กุมอำนาจบริหารสูงสุด
พิจารณาฐานะของ UMS ทำให้น่าเป็นห่วงเงินก้อนโตที่จะถูกดึงจาก TTA ไปช่วยเหลือ เพราะผลประกอบการ UMS ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี งวด 6 เดือนแรกปี 2560 ยังขาดทุนอยู่ ยอดรายได้รวมแต่ละปีก็ไม่มาก โดยปี 2557 มีรายได้ 113.05 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 585.21 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้ 486.04 ล้านบาท
นักการเงินคงตั้งข้อสังสัยเหมือนกันว่า UMSจะมีความสามารถชำระคืนเงินกู้ TTA เพียงใด ในเมื่อยอดรายได้ไม่สูง แถมขาดทุนต่อเนื่อง มียอดขาดทุนสะสมเกือบ 600 บาทอีกด้วย
นายประยุทธ์บิดานายเฉลิมชัย เคยสร้างความฮือฮามาแล้ว เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน โดยนำเงินเพิ่มทุนบริษัท ไทยฟิล์ม อินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TFI จำนวนนับ 1,000 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท ไทยคอปเปอร์ จำกัด ผู้ผลิตทองแดง ซึ่งกลุ่มมหากิจศิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ช่วงที่ TFI ประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม คณะกรรมการบริษัทระบุว่า จะนำเงินไปขยายการลงทุน แต่กลับนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนไทยคอปเปอร์ นอกจากนั้นวอร์แรนต์ที่ไทยคอปเปอร์แจกตอบแทนการซื้อหุ้นเพิ่มทุน นายประยุทธ์กลับเก็บไว้ในนามส่วนตัว ทั้งที่ควรเป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นTFI ทุกคน
"ปัจจุบันบริษัท ไทยคอปเปอร์ล้มละลายไปแล้ว เงินลงทุนของ TFI ที่ใส่ลงไป จึงสูญเสียทั้งก้อน"
การที่ TTA จะให้เงินช่วยเหลือ UMS จำนวน 1,000 ล้านบาท แม้ในรายละเอียดอาจแตกต่างจากการที่นายประยุทธ มหากิจศิริ นำเงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นรายย่อย ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนกิจการของตัวเอง แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องตั้งข้อสงสัย
เพราะถ้า UMS มีปัญหา ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ นายเฉลิมชัยจะรับผิดชอบหรือไม่ เช่นเดียวกับที่นายประยุทธ์ นำเงินของ TFI ไปเสียหายใน “ไทยคอปเปอร์”
ผู้ถือหุ้นรายย่อย TTA ตกอยู่ในฐานะ “หมูในอวย” มาหลายสิบปีแล้ว ใครมาใครไปในการบริหารงานบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ใครแวะเวียนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มักจะมีวิธีการอพยพเคลื่อนย้ายเงิน
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างTTA กับ UMS เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน เพราะนายเฉลิมชัยกุมอำนาจอยู่ทั้งสองบริษัท กลุ่มมหากิจศิริถือหุ้นอยู่ด้วยกัน จึงต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท
ผู้ถือหุ้นรายย่อย UMS คงไม่มีใครคัดค้านการกู้เงิน 1,000 ล้าน แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย TTA จะยอมให้กลุ่มมหากิจศิริ โยกเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวาหรือ
การปล่อยกู้รายการนี้ ไม่มีทั้งหลักประกัน ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน จึงมีความเสี่ยงสูง จนน่าตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเงินของกลุ่มมหากิจศิริ จะยอมปล่อยกู้หรือไม่
และต้องตั้งคำถามกันอีกว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย TTA จะอนุมัติการโยกเงินหุ้นกลุ่มมหากิจศิริหรือ
สุนันท์ ศรีจันทรา ชุมชนคนหุ้น ./