CNS มองตลาดหุ้นไทยจากนี้แกว่งตัวขึ้น ลุ้นทดสอบ 1,700 จุดใน Q4/60 ขานรับ ศก. ไทยฟื้นตัว และงบฯ บจ. โดดเด่น
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล. โนมูระ พัฒนสิน (CNS) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจากนี้จะแกว่งตัวขึ้นหลังจากซีมซับปัจจัยลบจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2/60 ไปหมดแล้ว โดยภาพรวมกำไร บจ. อยู่ที่ 2.25 แสนล้านบาท แม้จะชะลอตัว 22.7% จากช่วงไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 10.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าไม่ได้ต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยกำไรที่หดตัวดังกล่าวเกิดจากผลขาดทุนของสต๊อกกลุ่มพลังงาน ซึ่งสวนทางกับช่วงไตรมาส 1/60 ที่ได้ผลบวกจากส่วนนี้หนุน
ทั้งนี้ มองว่า แนวโน้มไตรมาส 3/60 แนวโน้มผลประกอบการจะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/60 และช่วงไตรมาส 3/59 ทั้งในกลุ่มของพลังงาน ที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมัน กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ค่าการกลั่น และสเปรดปิโตรเคมีที่ดีกว่าคาด อีกทั้งกลุ่มภายในประเทศกำลังมีภาพเชิงบวกมากขึ้น จากกลุ่มที่อิงกับการบริโภคในประเทศ ได้อานิสงส์บวกจากการเติบโตเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา และราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหนุน
ขณะเดียวกัน การเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐฯ ที่หนุน Sentiment เชิงบวกมากขึ้นจากงานประมูลที่เร่งตัวขึ้น และงานก่อสร้างที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/60 จะช่วยหนุนกลุ่มที่อิงกับภาคการลงทุนเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เริ่มเห็นกระแสการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาในตลาดหุ้นที่ยัง Laggard โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจและกำไรของภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้ได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน และเริ่มมีกระแสเงินลงทุนไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนดัชนี SET ยัง Outperform ต่อเนื่อง และใกล้เป้าหมายดัชนีที่คาดไว้ 1,654 จุด ซึ่งหากผ่านจุดนี้ไปคงต้องดูแนวต้านใหม่ที่ 1,670-1,675 จุด จากนั้น ต้องระมัดระวังการปรับฐาน และยังต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ย. นี้
ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวในช่วงไตรมาส 4 มองว่า ดัชนีมีโอกาสที่จะขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,700 จุดได้ และมีแนวรับที่ 1,630-1,640 จุด โดยการปรับขึ้นของดัชนีจะได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน มองว่ามีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าอีก ซึ่งเมื่อเทียบย้อนหลัง 10 ปี ต่างชาติจะถือหุ้นไทยอยู่ในสัดส่วน 32.8% ซึ่งปัจจุบัน ต่างชาติถือหุ้นไทยอยู่ในสัดส่วน 31.7% ซึ่งหากจะขึ้นไปถึงสัดส่วนเดิมต้องมีเงินทุนไหลเข้าอีกถึง 1.5 แสนล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหากดัชนีเข้าใกล้ 1,650 จุด บวก/ลบ ให้ลดน้ำหนักหุ้นลงบางส่วนจาก 70% เหลือ 60-65% โดยเข้าลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นหลัก แนะนำ IVL, IRPC และ PTT ส่วนกลุ่มที่รับประโยชน์จากการฟื้นตัวในประเทศในระยะกลางถึงยาว คือ กลุ่ม ICT กลุ่มปันผลสูงและผลประกอบการไตรมาส 3 ฟื้นตัว ได้แก่ ADVANC และ INTUCH กลุ่มธนาคาร KBANK, SCB และ KTB กลุ่มรับเหมาและนิคมอุตสาหกรรม ITD, CK, AMATA และ ROJNA กลุ่มค้าปลีก ROBINS, CPALL และ HMPRO กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากช่วงไฮซีซัน BDMS, IVL, ITD, AMATA, BWG และ PSTC