สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกำลังยกร่าง แนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันการรับอามิสสินจ้างและผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ความพยายามวางกรอบสื่อมวลชน ไม่ให้ละเมิดจริยธรรม โดยสวมคราบความเป็นสื่อเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากตลาดหุ้น เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์ขององค์กรวิชาชีพสื่อที่น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการรับหุ้นจอง ซึ่งถือเป็น “สินบน” รูปแบบหนึ่ง
เพราะมีเสียงพูดถืงสื่อที่เข้าไปหากินในตลาดหุ้นกันมานาน ทั้งการรับอามิสสินจ้างจากบริษัทจดทะเบียน รับงานเป็นกระบอกเสียงให้นักลงทุน “ขาใหญ่”
และร่ำลือกันถึงขั้น รับจ้างเชียร์หุ้น รวมทั้งการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเขียนเชียร์หุ้นที่สื่อซื้อไว้บริษัทจดทะเบียนใหม่หรือหุ้นใหม่ที่เตรียมจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีแต่การนำเสนอข่าวในด้านบวก มีแต่ข่าวดี หรือมีแต่สื่อเขียนเชียร์
ถ้าสภาการหนังสือพิมพ์สามารถกำหนดกฎกติกา วางแนวทางปฏิบัติของสมาชิกเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างชัดเจน และกำกับดูแลสมาชิกไม่ให้ละเมิดจริยธรรมได้จริงจัง จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการเสพสื่อมากขึ้น
ร่างหลักเกณฑ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกำหนดไว้ในเบื้องต้นมีอยู่ 5 หัวข้อใหญ่คือ
1.การได้มาของหุ้น ซึ่งหมายถึงหุ้นจอง หรือหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนใหม่นำเสนอขายนักลงทุนทั่วไป จะต้องเป็นไปตามช่องทางปกติเหมือนนักลงทุนทั่วไปที่ยื่นจองซื้อผ่านบริษัทผู้จัดการจำหน่าย
2.ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ บุตรและภรรยา รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทน ต้องละเว้นการรับหุ้นจอง ในฐานะผู้มีอุปการคุณหรืออุปการะอื่นใด
3.เมื่อลงทุนหุ้นตัวหนึ่งตัวใดไว้ ต้องละเว้นการเขียนข่าวหรือการวิเคราะห์เพื่อสนับสนุน และหากจะเขียนสนับสนุนหุ้น ควรจะเปิดเผยถึงการถือครองหุ้นตัวที่เขียน
4.ในระหว่างการสัมภาษณ์เจ้าของบริษัทจดทะเบียนหรือผู้มีอำนาจจัดสรรหุ้นจอง ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องไม่ร้องขอหรือแสดงท่าทีในความต้องการหุ้นจอง
5.ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน
ทั้ง 5 ประเด็นที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯร่างไว้ในเบื้องต้น ถือว่าครอบคลุมแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของสื่ออยู่พอสมควร
แต่ปัญหาคือ สภาการหนังสือพิมพ์จะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้หลักเกณฑ์ที่ร่างไว้สามารถควบคุมพฤติกรรมคนในวิชาชีหนังสือพิมพ์ได้ และสื่อมวลชนทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป็นที่รับรู้กันว่า มีการจัดโควตา “หุ้นจอง” แจกนักข่าว จนแทบเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว มากน้อยแล้วแต่ระดับความสำคัญ นักข่าวตัวเล็กๆ อาจได้น้อยหน่อย ระดับบก.อาจได้มากหน่อย
ต้นสังกัดของนักข่าวน่าจะรู้ถึงการรับหุ้น แต่ไม่เคยมีผู้บริหารสื่อค่ายไหนลงมาจัดการแก้ปัญหาการรับ “สินบน” หุ้นจอง
การตีกรอบป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและการรับอามิสสินจ้างของสื่อในตลาดหุ้น เป็นเจตนารมณ์ที่ดี เพื่อรักษาจริยธรรมในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และป้องกันคนที่สวบคราบความเป็นสื่อ แฝงตัวเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากตลาดหุ้น ทำลายภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนโดยรวม
แนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยกร่างกันใหม่ อีกไม่นานจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
สภาการหนังสือพิมพ์ต้องแจ้งให้ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์หรือสมาคมโบรกเกอร์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนเข้าใจในหลักการด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยละเว้นการแจก ”หุ้นจอง” นักข่าว ไม่หยิบยื่นผลประโยชน์ใดๆ เพื่อติด “สินบน” สื่อ
ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมสื่อที่เข้าไปเกี่ยวข้องในตลาดหุ้น การตีกรอบสื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนและรับอามิสสินจ้างในตลาดหุ้น น่าจะเห็นผลบ้าง
ทุกวันนี้นักข่าวรับ “สินบน” หุ้นจองกันอย่างโจ๋งครึ่ม ผลประโยชน์บดบังสำนึกในจริยธรรมแห่งวิชาชีพจนมืดมิด