xs
xsm
sm
md
lg

คาดไม่เกิน 2 เดือนร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน เข้า ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เผยตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 13 แห่งดีใจ หลัง “คลัง” ยืนยันวัตถุประสงค์การจัดทำร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน เพื่อรับจดทะเบียนกองทุนและกลุ่มออมทรัพย์ทั่วประเทศให้เป็นองค์กรการเงินระดับชุมชนที่สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการยื่นขอจดทะเบียนให้เป็นไปตามความพร้อม และความสมัครใจของแต่ละราย ย้ำหลังจดทะเบียนรัฐบาลไม่มีความตั้งใจที่จะบังคับให้ต้องดำเนินการทุกอย่างตามที่รัฐบาลสั่ง รวมทั้งไม่มีนโยบายให้นำส่งกำไรเข้ารัฐ คาดร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลหารือร่วมระหว่างนางสาวบัณฑร แก้วสอาด ที่ปรึกษาด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 13 แห่งจาก 4 ภาคทั่วประเทศ ที่ได้เข้าพบเพื่อให้ความเห็น และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... ว่า ที่ผ่านมา ยังมีประเด็นที่ชุมชนเป็นห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนยกระดับกองทุนในชุมชนของตัวเองขึ้นให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ แต่หลังการหารือพวกเขาจึงมีความเข้าใจและสบายใจแล้วว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับองค์กรการเงินชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยความสมัครใจ และกองทุนต่าง ๆ จะได้ไม่ต้องกังวลว่า สิ่งที่พวกตนกำลังดำเนินการอยู่นั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน การทำธุรกรรมด้านเงินของกองทุนหมู่บ้านทั้ง 80,000 แห่ง และกลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกประมาณ 30,000-40,000 แห่ง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่หากในอนาคตกองทุนใดที่มีความพร้อม และได้เข้าจดทะเบียนยกระดับขึ้นเป็นธนาคารชุมชนขนาดเล็กแล้ว รัฐบาลก็จะมีแรงจูงใจสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ให้ เช่น ระบบบริหารจัดการธนาคาร, การเข้าถึงสินเชื่อโครงข่าย, ระบบการโอนเงิน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และหากกองทุนใดยังไม่ต้องการที่จะขอจดทะเบียนกับรัฐบาลแล้วก็ยังสามารถอยู่ได้ตามแบบที่เป็นในปัจจุบัน

นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลยังตั้งใจว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะเป็นการติดปีกให้พี่น้องประชาชน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความตั้งใจที่จะบังคับให้กองทุนต่าง ๆ ที่ได้เข้าจดทะเบียนตามกฎหมายสถาบันการเงินชุมชนแล้วจะต้องดำเนินการทุกอย่างตามที่รัฐบาลสั่ง เนื่องจากรัฐบาลได้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ชุมชนแต่ละแห่งเคยดำเนินการกันมาจะมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น บางชุมชนปล่อยสินเชื่อบนหลักคุณความดี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินการได้

โดยเรื่องอัตลักษณ์ดังกล่าวนั้น รัฐบาลมองว่าเป็นสิ่งที่ดี และต้องการให้ประชาชนดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์ของชุมชนในการการปล่อยสินเชื่อ, การรับเงินฝาก, เงื่อนไขการกำหนดอัตราดอกเบี้ย, และเทคนิคการทวงหนี้ ที่เคยใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ การวางกรอบการเป็นนิติบุคคล รวมถึงการวางกรอบใหญ่ ๆ โดยทั่วไป เช่น เรื่องการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสูงสุดต่อเดือนที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 3%, การกำหนดอัตราสัดส่วนการดำรงสภาพคล่องที่เหมาะสม, การกำหนดเงื่อนไขการห้ามปล่อยกู้ข้ามจังหวัด เนื่องจากการติดตามทวงหนี้จะทำได้ยาก และเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงกับตัวธนาคารชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม หากจะยินยอมให้มีการปล่อยกู้ข้ามจังหวัดแล้ว รัฐบาลอาจกำหนดให้ต้องดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของสถาบันการเงินชุมชน

ส่วนการจะกำหนดเงื่อนไขการเก็บกำไรจากการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนเข้ารัฐผ่านธนาคารรัฐที่เป็นธนาคารพี่เลี้ยงของสถาบันการเงินชุมชนด้วยหรือไม่นั้น นายกอบศักดิ์ ได้ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่มีความตั้งใจจะเก็บเงินจากสถาบันการเงินชุมชน เนื่องจากจะมีการกำหนดให้สถาบันการเงินทำบัญชีต่างหากสำหรับโครงการต่าง ๆ และหากมีเงินกำไรเกิดขึ้น ในอนาคตจะกำหนดให้นำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อแลกเปลี่ยนการจัดสัมมนา, การสร้างเครือข่าย, พัฒนาคอมพิวเตอร์, พัฒนาระบบการโอนเงิน, พัฒนาระบบการทำบัญชีต่าง ๆ, และระบบการตรวจสอบยอดเงินฝากคงเหลือผ่านอินเทอร์เน็ตให้กับตัวสถาบันการเงินชุมชนทุกแห่งต่อไป

ด้านความห่วงใยของตัวแทนเครือข่ายกองทุนฯ มีมองว่าการใช้คำว่า “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เผยตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 13 แห่งดีใจ หลัง “คลัง” ยืนยันวัตถุประสงค์การจัดทำร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน เพื่อรับจดทะเบียนกองทุนและกลุ่มออมทรัพย์ทั่วประเทศให้เป็นองค์กรการเงินระดับชุมชนที่สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการยื่นขอจดทะเบียนให้เป็นไปตามความพร้อม และความสมัครใจของแต่ละราย ย้ำหลังจดทะเบียนรัฐบาลไม่มีความตั้งใจที่จะบังคับให้ต้องดำเนินการทุกอย่างตามที่รัฐบาลสั่ง รวมทั้งไม่มีนโยบายให้นำส่งกำไรเข้ารัฐ คาดร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า สถาบันการเงินชุมชน นั้นอาจจะมีความซ้ำซ้อนกับการใช้ชื่อสถาบันการเงินชุมชนของกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ที่มีอยู่แต่เดิมนั้น นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ตกลงให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ โดยแต่ละฝ่ายจะกลับไปพิจารณาชื่อใหม่อีกครั้ง

นายกอบศักดิ์ ยังย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน มีความสำคัญมากต่อประชาชนทั้งประเทศเนื่องจากจะทำให้มีธนาคารขนาดเล็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้โดยถูกกฎหมายภายในชุมชนทั่วประเทศได้ชุมชนละ 1-2 แห่งทั่วประเทศ หรือรวมกันประมาณ 7,000 แห่ง โดยรูปแบบการเกิดธนาคารชุมชนขนาดเล็กนี้จะค่อย ๆ ทยอยดำเนินการ และเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะเป็นเหมือนธนาคารขนาดเล็กของชุมชนนั้น ๆ เองที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น ฝากเงิน โอนเงิน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางออกมาจากชุมชน อีกทั้งยังจะสามารถขอรับสินเชื่อได้โดยไม่ต้องติดกฎเกณฑ์ของทางการมากนัก รวมทั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็ยังจะมีช่องทางในการเข้าถึงผู้ออมเพื่อการเกษียณอายุได้มากขึ้นด้วย อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และการสูญเสียที่ดินทำกิน ทั้งนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น