xs
xsm
sm
md
lg

Final Battle : เจาะลึก 3 สุดยอดแอปฯ Unicorn เริ่มจากศูนย์มุ่งสู่พันล้าน “Hungry Hub vs iTAX vs Seekster” ใครคือผู้ชนะ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากสถิติของกูเกิล บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ของทั้งประเทศ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 46 ล้านคน (เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือประมาณ 30 ล้านคน) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 59 ล้านคนภายในปี 2563 โดยคนไทยใช้เวลาอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.18 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยเหตุนี้ “โลกออนไลน์” จึงเป็นดินแดนแห่งโอกาสของทั้งธุรกิจเก่า และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกสบาย แก้ปัญหารอบตัว และขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

หลายปีที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนคงเคยได้ยิน ได้สัมผัส หรือได้ใช้งาน แอปพลิเคชันต่างๆ ที่เปิดให้ดาวน์โหลดและเลือกใช้บนสมาร์ทโฟนกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ สนทนายอดฮิตอย่าง LINE หรือ แอปฯ บริการเรียกรถแท็กซี่ รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์อย่าง Grab ซึ่งได้กลายเป็นบริการผ่านโลกออนไลน์ที่ฮิตติดลมบน ทว่า หากกวาดตามองไปบนสมาร์ทโฟนของเรา แอปฯ ที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ประสบความสำเร็จและเกิดจากฝีมือคนไทยนั้นแทบจะนับชิ้นได้เลยทีเดียว

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมข่าว MGR Online ได้ชมรายการ The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน* ซึ่งเป็นรายการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย และช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งนำสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันชาวไทย จำนวน 12 แอปฯ มาขึ้นเวทีแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพกันว่า แอปฯ ใดจะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนในสังคมไทยได้ดีที่สุด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ต้องเป็นเทคโนโลยี บริการ และมีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน โดยผ่านการพัฒนาและคิดมาแบบรอบด้านแล้ว

ในรอบตัดสินของรายการ หลังจากขับเคี่ยวกันมาหลายสัปดาห์ จากแอปฯ ดาวรุ่ง 12 แอปฯ ก็ถูกคัดสรรเหลือเพียง 3 แอปฯ ประกอบไปด้วย Hungry Hub, iTAX และ Seekster ซึ่งต้องฝ่า “ด่าน 5 เซียน” แห่งวงการสตาร์ทอัพ โดยการแข่งขันในรอบสุดท้าย ผู้คิดค้นแอปพลิเคชันทั้ง 3 ต้องตอบคำถามของเหล่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีมุมมองและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ 5 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย, คุณจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง GrabTaxi (Thailand), คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Beacon Venture Capital และคุณเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University โดยธุรกิจที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดสตาร์ทอัพไทย พร้อมคว้าเงินรางวัล 1 ล้านบาทไปครอง

กวาดสายตาดู แอปฯ ทั้ง 3 ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Final Battle จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 แอปฯ นั้นมุ่งแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน คือ Hungry Hub มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการจัดเลี้ยง และต้องการร้านอาหารที่สามารถรองรับคนได้มากๆ โดยอาหารต้องเป็นบุฟเฟต์ที่คงคอนเซ็ปต์ All You Can Eat ด้วย ขณะที่ iTAX เป็นแอปฯ ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการและวางแผนภาษีให้คนทั่วไปที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องภาษีสามารถบริหารจัดการรายได้ของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุดและสามารถเสียภาษีอย่างถูกกฎหมายได้คุ้มค่าที่สุด และสุดท้าย Seekster คือ แอปฯ ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหาของคนมีที่อยู่อาศัย หรือเจ้าของกิจการทุกคนต้องประสบนั่นคือ การหาแม่บ้าน และบริการซ่อมแซม รวมถึงบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน

พอเจาะลึกลงไปในแต่ละแอปฯ จะพบว่า รายละเอียดของทั้ง 3 สตาร์ทอัพที่ เข้าสู่รอบ Final Battle มีดังนี้

1. Hungry Hub - แอปพลิเคชันจองโต๊ะร้านอาหารจานเดียวในราคาบุฟเฟ่ต์ ตอบโจทย์ที่ win-win ทั้งลูกค้าและร้านอาหาร ก่อตั้งโดยสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ และกมลพร เทศรัตนวงศ์

Hungry Hub เป็นสตาร์ทอัพที่เชื่อมระหว่างร้านอาหารและลูกค้า ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่กับร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ โดยจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้ทานอาหารแบบบุฟเฟต์ไม่อั้นในระยะเวลา 2 ชั่วโมง ในร้านที่ปกติไม่เคยให้บริการแบบบุฟเฟต์มาก่อน ส่วนวิธีการจองก็ง่ายๆ เพียงคลิกแอปฯ Hungry Hub ก็จะมีการแจ้งราคาค่าบริการ พร้อมรายการอาหารของแต่ละร้านไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ร้านที่ราคาถูกสุดเริ่มต้นเพียง 249 บาทเท่านั้น

สำหรับรูปแบบทางธุรกิจของ Hungry Hub จะแตกต่างจากธุรกิจที่ให้ส่วนลดร้านอาหาร (Daily Deal) เพราะมีการคำนึงถึงความอยู่รอดของร้านอาหารด้วยการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล มากกว่าการมุ่งเน้นต่อรองส่วนลดจากร้านค้าให้กับผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว โดย Hungry Hub ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยร้านอาหารในการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เพราะจากสถิติ โดยเฉลี่ยแล้วลูกค้ามักจะทานอาหารที่ร้านในราคาน้อยกว่าราคาบุฟเฟต์ ทำให้การจัดโปรโมชันแบบนี้ร้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในมุมของผู้ใช้บริการเองก็สามารถตัดสินใจเข้าร้านอาหารต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องกังวลว่างบจะบานปลาย เรียกได้ว่า win-win กันทุกฝ่าย สำหรับรายได้หลักของ Hungry Hub นั้นจะคิดราคาจากการใช้บริการของลูกค้าผ่านแอปฯ ที่ร้อยละ 10 ของราคาขายบุฟเฟต์ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรกับ Hungry Hub แล้วกว่า 90 ร้านค้า และมีแผนจะขยายไปถึง 200 ร้านค้าทั่วประเทศภายในสิ้นปี และอนาคตจะมีการจับมือกับพันธมิตรต่างชาติ อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ เนปาล เป็นต้น

2. iTAX แอปพลิเคชันที่จะทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องไม่น่ากลัว ก่อตั้งโดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์

แอปพลิเคชัน iTAX ถือตัวช่วยในการคำนวณและวางแผนจัดการภาษีเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุดและได้เงินคืนสูงสุด สำหรับคนที่มีรายได้ทุกคน โดยจุดเด่นของ iTAX คือ “การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” ไม่ว่าจะเป็นการช่วยคำนวณภาษีที่ใช้งานง่าย หรือการให้คำแนะนำเรื่องกองทุน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินรวมไปถึงวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยในการลดหย่อนภาษีให้ได้เงินคืนสูงสุด นอกจากนี้ก็ยังช่วยแปลคำศัพท์เทคนิคทางภาษีที่ว่ายากให้เข้าใจได้ง่ายอีกด้วย

สำหรับรายได้หลักของ iTAX มาจากค่าแนะนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี แต่ทั้งนี้การโฆษณาดังกล่าวไม่มีผลให้ iTAX แนะนำผลิตภัณฑ์ใดอย่างไม่เป็นกลางหรือเกินความจำเป็น เพราะ iTAX ใช้สูตรการคำนวณคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานที่นักวางแผนการเงินมืออาชีพให้การยอมรับ iTAX เพียงทำหน้าที่ช่วยรวบรวมข้อมูลสินค้าในตลาดและตัวชี้วัดต่างๆ พร้อมอัพเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ แล้วคัดเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้คุณอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้ใช้งานประหยัดภาษีสูงสุดและคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ยังยังมีรายได้จากการนำซอฟท์แวร์ของ iTax ไปใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ใช้บริการแล้ว และกำลังจะมีอีกหลายองค์กรเป็นลูกค้าเพิ่มเติมในปีนี้

3. Seekster แอปพลิเคชันที่ทำให้เรื่องปวดหัวอย่างการหาแม่บ้าน หรือหาช่างซ่อมบ้านเป็นเรื่องง่าย ก่อตั้งโดย ชัชนาท จรัญวัฒนากิจ และสเฮ็บ อนันต์ทรงวิทย์

Seekster เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการจองแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน และ บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาทุกเรื่องเกี่ยวกับบ้าน โดยบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 2 ประเภทแรกของ Seekster คือ ทำความสะอาด และบริการล้างแอร์ Seekster จัดว่าเป็น on-demand application คือ แอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการเฉพาะกิจของลูกค้า

แม้ว่า Seekster จะเป็นสตาร์ทอัพที่มีคู่แข่งหลากหลายและมีบริการคล้ายๆ กัน แต่จุดแข็งของ Seekster คือมีบริการที่ครอบคลุมกว่า ตั้งแต่การทำความสะอาด บำรุงรักษา ซ่อมแซม ก่อสร้างและติดตั้ง กำจัดแมลง ไปจนถึงทำสวน โดยลูกค้าสามารถเลือกวัน และเวลาที่ต้องการรับบริการ สามารถเลือกชมรูปภาพของผู้ให้บริการและรีวิวการใช้งานจากลูกค้ารายอื่นๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ทางผู้ก่อตั้งและพัฒนายังพยายามจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรม หรือตรวจสอบงานของแม่บ้านหรือช่าง Seekster ด้วยว่าสามารถทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

หลังจากการซักถาม และการเอ็กซเรย์ จุดแข็ง-จุดอ่อน ของ 3 ทีม จาก “5 เซียน” แบบละเอียดยิบ และเข้มข้นถึงใจ อย่างเช่น จากผู้ใช้หลักพัน หรือหลักหมื่น จะพัฒนาทำให้ถึงพันล้านได้ยังไง? หากคู่แข่งใช้กลยุทธ์เผาเงิน (ทุ่มตลาด) จะแก้ไขอย่างไร? ค่าใช้จ่ายเยอะอย่างนี้จะทำกำไรได้จริงหรือ?

ในที่สุดผลการตัดสินก็ออกมาว่า iTAX แอปพลิเคชันช่วยในการคำนวณและวางแผนจัดการภาษีนั้นคว้าชัยชนะในรอบ Final ครั้งนี้

“จริงๆ กรรมการทั้ง 5 คนหนักใจมาก ทั้ง 3 แอปฯ ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งหมด เห็นในพลังและความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง และทีมงานทุกคนด้วย ต้องชื่นชมจริงๆ สาเหตุที่เลือก iTAX เพราะว่า อย่างแรกคือ มันเป็นเรื่องภาษี และเป็นเรื่องของทุกคน แล้วก็นโยบายของรัฐ ประเทศก็จะเจริญเนื่องจากได้ภาษีเพิ่มขึ้น ทุกคนก็ปฏิบัติตามกฎด้วย แต่ก็ประหยัดภาษีไปได้ด้วย อีกมุมหนึ่งก็คือ ตัวผู้ก่อตั้งที่ตอบโจทย์ได้ดี และเห็นพลัง และเห็นภาพว่าขั้นถัดไปจะขยายผล หรือปรับปรุงอะไรก็เห็นได้ชัด แล้วก็เห็นความมั่นใจ และเห็นแผนที่ประกอบเข้ามา มันสร้างความมั่นใจว่าจะไปได้ดี แต่ยืนยันว่าทั้ง 3 แอปฯ หนทางการเป็น Unicorn นั้นไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย” คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในกรรมการเผย

การที่ธนาคารกสิกรไทยก้าวเข้ามาผลิตรายการเพื่อสตาร์ทอัพไทยในครั้งนี้ เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เหล่าสตาร์ทอัพได้โชว์ศักยภาพ และเชื่อมั่นว่าสตาร์ทอัพไทยจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจแห่งอนาคตตอบรับยุคดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทกับคนในปัจจุบัน

เชื่อว่าหลังจากได้ชมรายการจบ ผู้ชมหลายคนคงหยิบสมาร์ทโฟนของตัวเองขึ้นมาลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทั้ง 3 มาใช้ว่าสามารถช่วยตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาให้กับเราได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นทีมงาน MGR Online เชื่อว่าทุกดาวน์โหลด และการใช้งานนอกจากจะช่วยแก้ปัญหารอบๆ ตัวให้กับทุกๆ คนได้แล้ว คนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการธุรกิจยังจะได้รับโอกาสและกำลังใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย



หมายเหตุ :
*คำว่า "The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน" นั้นมีที่มาจากเทค สตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยยังไม่เข้าตลาดหุ้น ซึ่งแสดงถึงการประสบความสำเร็จที่รวดเร็วจากเงินของนักลงทุน เป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกโฉมรายการเกมโชว์ของเมืองไทยในครั้งนี้ ซึ่งความแปลกใหม่ที่จะเห็นได้ชัดที่สุดในรายการ คือการได้รับองค์ความรู้ในเรื่องสตาร์ทอัพ และประสบการณ์ตรงจาก 12 ธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งรายการที่อยากให้ผู้ชมรายการติดตามและให้กำลังใจสตาร์ทอัพไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็น The Unicorn ให้ได้ ติดตามชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ช่อง K SME

กำลังโหลดความคิดเห็น