รองผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยในเวทีเสวนา Thailand Focus 2017 ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยส่งสัญญาณฟื้นตัว ชูการท่องเที่ยวดึงเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไทย ประเมิน GDP ปีนี้เติบโตอยู่ที่กรอบ 3.5% แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับเทคโนโลยีฟินเทคช่วยผลักดันธุรกิจให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน Thailand Focus 2017: Establishing the New Engine ว่า ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยการท่องเที่ยวยังคงความแข็งแกร่งถึงแม้จะมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบหลายครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางมาไทยอย่างมาก นักท่องเที่ยวรัสเซีย และ ยุโรป เริ่มกลับมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ด้านความต้องการในประเทศนั้น การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตแม้ว่าราคาพืชผลการเกษตรจะยังคงตกต่ำ
ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นนำมาซึ่งอำนาจการซื้อที่ปรับตัวขึ้นตามมาด้วย ขณะที่ภาคการส่งออกที่กลับมาดีส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคภายใน อย่างไรก็ตามคาดว่าในระยะ 1-2 ปีนี้ การบริโภคในประเทศจะยังเติบโตเล็กน้อยเพียง 1-2% จากที่เคยเติบโต 4-5% สาเหตุจากหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยังชะลอการลงทุน
"ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ 3.5% และ 3.7% ในปีหน้าซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่หน่วยงานอื่นๆคาดการณ์ เพราะ ธปท. มองแบบอนุรักษ์นิยม โดยคาดการณ์ว่าการบริโภคภายในจะปรับตัวดีขึ้นจากภาคการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นปัญหา ส่วนความต้องการภายนอกยังจะขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า"
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตามีหลายด้าน ทั้งปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี และ ท่าทีของสหรัฐต่อสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ รวมทั้ง เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เผชิญความยากลำบากในการเดินหน้านโยบายต่างๆ ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณตามแผน แต่กระนั้น นโยบายการเงินของไทยจะเน้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ
ขณะที่่ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเรื่องซัพพลายไซด์ที่ราคาอาหาร ผัก และ ผลไม้ปรับตัวลดลงจากผลผลิตในประเทศสูง ซึ่งอาหารมีสัดส่วนใหญ่ในเงินเฟ้อของไทย จึงส่งผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในปีหน้าจะปรับดีขึ้นหากราคาพลังงานดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำนั้นไม่น่ากังวล แต่ทั้งนี้ ธปท. มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนว่าจะผลต่อการบริโภคในประเทศ ประชาชนที่มีหนี้สูงจะอ่อนไหวต่อแนวโน้มรายได้และภาวะดอกเบี้ยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และได้ประกาศปรับเกณฑ์สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 20% เหลือ 18%ไม่นานนี้
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต้นเหตุนั้น ประชาชนจะต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน รวมทั้ง ธนาคาร หรือ สถาบันการเงินจะต้องมีความโปร่งใสต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นด้วย จะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าไม่ค่อยจะโปร่งใสนัก
นอกจากนี้ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูงไม่ผิดปกติ หากมีความรู้และตระหนักถึงผลตอบแทนที่จะมากับความเสี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ นักลงทุนรายใหญ่ทั่วไปที่มีความรู้ไม่น่ากังวลเชื่อว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ที่น่ากังวลนักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป
"การปล่อยสินเชื่อที่ต่ำนั้นเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่าน ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่มีช่องทาระดมทุนหลากหลายทั้งในและนอกตลาด รวมถึง การออกตั๋วบีอี อย่างไรก็ตาม คุณภาพนักลงทุนรายย่อย ทำให้การปล่อยสินเชื่อยังต้องระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่า อัตราการปล่อยสินเชื่อยังเติบโตตัวเลขหลักเดียวในปีนี้"
ขณะที่ประเด็นเงินบาทแข็งค่านั้นไม่เป็นที่น่ากังวล เพราะ บาทแข็งมีเหตุจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลง และ ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าแล้ว 7.7% แม้ว่าจะแข็งค่าที่สุดในเอเชียแต่สอดคล้องกับเงินภูมิภาค ขณะที่ หากเทียบกับเงินสกุลอื่นแล้ว บาทแข็งค่า 2.6% ขณะที่ ค่าเงินวอนซึ่งอ่อนไหวต่อเหตุการณ์คาบสมุทรเกาหลีนั้น เงินวอนมีความผันผวนมากที่สุด ซึ่ง ธปท.พยายามสนับสนุนด้านประสิทธิภาพภาคการเงิน โดยในอนาคตอันใกล้ฟินเทคนับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่คือ การนำดิจิทัล มันนี่ มาใช้ ซึ่งขณะนี้ก็ต้องศึกษาความเสี่ยงด้วยจึงได้สร้างโครงการฟินเทคนำร่องขึ้นมา รวมทั้ง ทีมศึกษาบิตซ์คอยน์ และ คริปโตเคอเรนซี่ เพื่อเรียนรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของฟินเทคต่อภาคการเงินในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีสำหรับบิตส์คอยน์นั้น ธปท.ไม่ได้ห้ามการทำธุรกรรมด้วยบิตซ์คอยซ์ เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้ ซึ่งหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่ซื้อขายด้วยบิตซ์คอยน์ ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากยังไม่มีกฏหมายเฉพาะเจาะจงออกมาดูแล