xs
xsm
sm
md
lg

เครดิต สวิส เผยบทสรุปแนวโน้มการลงทุนครึ่งปีหลัง 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครดิต สวิส เผยมุมมองสำคัญด้านการลงทุนครึ่งหลังปี 2560 มีแนวโน้มที่พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกจะมีความผันผวนสูงขึ้น แต่เชื่อว่านโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในบริบทที่เศรษฐกิจเติบโตเป็นบวก ชี้ภาวะสังคมพิโรธผลักดันให้เศรษฐกิจที่เน้นสนับสนุนผู้บริโภคภายในประเทศ และกระจายการเติบโตมาสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานในประเทศสูงอีกครั้ง

1.การลงทุนเพื่อผลตอบแทนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

บรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ไม่กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกล่าสุดที่เกิดขึ้น และส่งสัญญาณที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป ส่งผลให้ค่าความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนยังคงสามารถฟื้นตัวสู่ระดับปกติได้ เครดิต สวิส คาดว่าจะยังคงมีการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในบริบทที่เศรษฐกิจเติบโตเป็นบวก ซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เราเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะสร้างโอกาสที่ดีในการพิจารณาเลือกกลยุทธ์การลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่น พันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว กลุ่มตราสารหนี้ระดับน่าลงทุนในระยะสั้น และการลงทุนเพื่อผลตอบแทนอื่นๆ ที่มีรายได้เหมาะสม และ/หรือเพิ่มขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้

2.ภาวะสังคมพิโรธ (Angry Societies)

ยุคกระแสโลกาภิวัตน์แบบสุดโต่งช่วยลดความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศต่างๆ ได้ แต่ก็ทำให้ภายในประเทศเกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในสังคม และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในหลายประเทศตะวันตกอยู่ ณ ขณะนี้ เมื่อมองอนาคตข้างหน้า เราคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาของนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นสนับสนุนผู้บริโภคภายในประเทศ และกระจายการเติบโตมาสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานในประเทศสูงอีกครั้ง และช่วยให้บริษัทระดับแนวหน้าของประเทศ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ กลุ่มอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาด้านความปลอดภัย และกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่โดดเด่นขึ้น อันเป็นกลุ่มที่เรามองว่าเป็นธีมสำคัญในการลงทุนแบบระยะเวลาหลายปี

3.เทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์

เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์จะยังคงมีบทบาทสำคัญในอีกหลายปีข้างหน้า การก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลช่วยเปิดทางให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยบริษัทด้านแพลตฟอร์ม อินเทอร์เน็ตที่นำเสนอเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (augmented reality) จะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์หลักๆ ปริมาณข้อมูลมากมายมหาศาลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และการจัดการข้อมูลขยะ (data waste management) อีกทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) จะยังคงส่งผลดีต่อธุรกิจผู้ให้บริการแผงวงจรอิเล็กทรอนิกและหุ่นยนต์ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (Healthtech) อินเทอร์เน็ต และโครงการที่เกี่ยวกับข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ ก็เหมาะสมสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพในอนาคต

มุมมองมหภาค

1.การเจริญเติบโต

เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตแบบหลากหลายและคงที่ ผลสำรวจธุรกิจในเดือนกรกฎาคมพบว่าเป็นไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ในสหรัฐอเมริกา การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กลับมาโตอีกครั้งในไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาสแรกที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยกระตุ้นได้แก่การบริโภคและการลงทุน ซึ่งการลงทุนชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คาดว่าการเติบโตของประเทศจีนจะชะลอตัวในครึ่งปีหลัง หลังจากเติบโตช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของกฎระเบียบล่าสุดและมาตรการนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ส่วนจีดีพีของไทยคาดว่าจะเติบโตแบบคงที่ที่ร้อยละ 3.3

2.ภาวะเงินเฟ้อ

ราคาพื้นฐานสินค้ากลุ่มพลังงานส่งผลกระทบอย่างมากในไตรมาสแรก แต่จะยังคงเป็นไปในทางบวกเกือบตลอดทั้งปี การแปรผันของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะลดน้อยลง (ยกเว้นในสหราชอาณาจักร) แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยๆ สูงขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างช้า ๆ ในปี 2560 และอาจมีค่าต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงสิ้นปี เราคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในปี 2560 และร้อยละ 1.8 ในปี 2561

3.นโยบายการเงินทั่วโลก

ภาวะเงินเฟ้อที่ลดน้อยลงแต่รักษาระดับคงที่จะเร่งให้มีการนำนโยบายการเงินมาสนับสนุน คาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยน่าจะปรับครั้งถัดไปในเดือนธันวาคม 2560 และอาจมีการประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านงบดุลในเดือนกันยายน 2560 และเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปก็เป็นได้ หลังจากธนาคารกลางยุโรป เปลี่ยนมาตรการการชี้นำทิศทางนโยบาย (forward guidance) ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะประกาศแผนการลดการซื้อสินทรัพย์ประจำปี 2561 ในการประชุมเดือนกันยายน 2560 ต่อไป ส่วนการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะประกาศหลังจากประกาศลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว (tapering) ซึ่งน่าจะเป็นปี 2562 ส่วนธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไป ซึ่งอาจมีความเสี่ยงว่าผลตอบแทนทั่วโลกที่สูงกว่าจะทำให้เกิดการปรับเพิ่มของผลตอบแทนเป้าหมายของพันธบัตร 10 ปี ในช่วงปี 2561 ได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของตลาดเกิดใหม่น่าจะคงที่ ภาวะการลดหนี้ (deleveraging) ของจีนจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน จะกลับมาใช้มาตรการที่เป็นกลางมากขึ้น เราคาดว่าจะมีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเดิมต่อไป และธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เพียงครั้งเดียว เป็นร้อยละ 1.75 ในปี 2561

ตราสารทุน

ในมุมมองระดับโลก

มุมมองเป็นกลางมองว่า ตราสารทุนออกตัวได้ดีในปีนี้ อันเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ดี และความคาดหวังที่มีต่อการขยายตัวทางการคลังภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ส่งผลดีต่อตลาด และรายงานผลประกอบการธุรกิจประจำไตรมาส 2 ที่เป็นบวกช่วยฉุดให้ตราสารทุนสูงมากขึ้น ด้วยแรงกระตุ้นจากเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ค่อยๆ คลายตัว และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้น ตราสารทุนก็จะอยู่ในภาวะขึ้นๆ ลงๆ จากนี้ การคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีทีท่าว่าจะสดใสเกินจริงตามความเห็นของเรา นอกจากนี้ การประเมินมูลค่าตราสารทุนจะมีค่าสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงการเพิ่มขึ้นของราคาหลังจากตกลงมาช่วงหนึ่ง (rally) และตัวชี้วัดทางเทคนิคต่างๆ อยู่ในระดับกลาง (neutral) แต่ความผันผวนราคาที่ต่ำ และสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นก็ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุน

มุมมองในประเทศไทย

มุมมองเป็นกลาง ในขณะที่ตราสารทุนของไทยมีการปรับตัวลดลง หรือขึ้นอย่างช้ากว่าตราสารทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และในภูมิภาคเอเชียอยู่ร้อยละ 15 และร้อยละ 20 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 การประเมินมูลค่าตราสารทุนก็ยังดูไม่ค่อยดีนัก ตลาดยังคงซื้อขายตราสารทุนที่ระดับ P/E Ratio 14.5 เท่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของกำไรก็ชะลอตัวโดยผลประกอบการไตรมาส 2 ของกลุ่มธนาคาร และผู้บริโภคค่อนข้างน่าผิดหวัง ตัวเลขการเติบโตของกำไรปี 2560 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.5 อยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตกำไรตราสารทุนในตลาดเอเชียซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 20 และอาจส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนในไทย ดังนั้น เราจึงไม่คาดหวังว่าตราสารทุนไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยเป็นตลาดเชิงรับ (defensive market) และดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติได้ไม่มากนักในปีนี้ ซึ่งความสนใจของนักลงทุนต่อตลาดประเทศเอเชียตอนเหนือที่มีอยู่ในระดับปานกลางน่าจะช่วยให้ภาวะขาลงของตลาดดูดีขึ้น

ขณะที่มุมมองของตราสารหนี้

ระดับโลก

ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกลดลง ในอนาคต การแปรผันของภาวะเงินเฟ้อจะมีบทบาทสำคัญต่อการทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ เรามองทิศทางตราสารหนี้ระดับโลกแบบกลางๆ และคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วไปของสหรัฐอเมริกาจะมีความสมดุลดีขึ้นด้วยความเสี่ยงจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือธนาคารกลางยุโรปดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และเรายังคงมองเครดิตการเงิน และองค์กรในระดับน่าลงทุนเป็นบวกในประเภทที่ให้ผลตอบแทนชั้นเลิศคุ้มค่ากับการลงทุน และมองผู้ออกตราสารหนี้อัตราผลตอบแทนสูง (high yield issuer) ในระดับกลาง ด้วยปัจจัยการประเมินมูลค่าที่เข้มงวด

ภูมิภาคเอเชีย

ตราสารหนี้ระดับ investment grade สกุลดอลล่าร์สหรัฐในตลาดเอเชียยังคงมีผลตอบแทนที่ดีแบบคงที่ แม้ว่าจะมีการออกตราสารหนี้ในตลาดแรก ความเสี่ยงเรื่องการกู้ยืมเงินในประเทศจีน และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองโลก ด้วยความต้องการที่สูงของนักลงทุนชาวจีนท่ามกลางเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในระบบการเงินเอเชีย เราคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปด้วยอัตราผลกำไรที่ร้อยละ 4 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ยูโร/ดอลล่าร์สหรัฐ มุมมองเป็นกลาง ด้วยความแตกต่างระหว่างสภาพเศรษฐกิจของยุโรปที่ดีเกินความคาดหมาย และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงอ่อนแอ จะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับคงที่ หรืออาจเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ หากยังคงสภาวะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ดอลล่าร์สหรัฐ/เยน มุมมองเป็นลบ เรายังคงมองเงินเยนในระดับที่ดี เพราะเงินเยนสามารถช่วยสนับสนุนประเด็นด้านภูมิศาสตร์การเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ รวมถึงการซอฟต์รันข้อมูลการเงินสหรัฐอเมริกา ในขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ลังเลที่จะปล่อยให้ตราสารหนี้ของญี่ปุ่นปรับตามผลตอบแทนตราสารหนี้โลกที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องเผชิญความกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อไป บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ดอลล่าร์สหรัฐ/ไทยบาท มุมมองเป็นกลาง ค่าเงินบาทแข็งค่าถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ตลอดจนดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลจำนวนมากยังคงช่วยสนับสนุนค่าเงินบาทอยู่ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นเรื่องยากเพราะอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ เราคาดว่าอัตราเงินบาทต่อเหรียญดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ที่ 33.5 บาทใน 3 เดือนข้างหน้า และ 34.0 บาท ใน 12 เดือนข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น