คลังเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ ล่าสุด มอบใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ อีก 5 ราย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรคลัง ร่วมมอบใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ในโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนครราชสีมา หลังจากลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 14.1 ล้านคน พบว่ามีหนี้นอกระบบ 1.3 ล้านคน มูลหนี้ 70,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะทำการแก้ปัญหาเชิงรุก มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่พูดคุยกับลูกหนี้ เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาในระบบ เพื่อไม่ต้องรับภาระเสียดอกเบี้ยนอกระบบในอัตราที่สูง ขณะเดียวกัน การลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาวันนี้ (21 ส.ค.) กระทรวงการคลังได้ทำการแจกใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ เพิ่ม 5 ราย ทำให้ตอนนี้มีพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดนครราชสีมา 11 ราย จากยื่นทั้งหมด 30 ราย
ทั้งนี้ มอบหมายให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เตรียมวงเงินให้กู้ฉุกเฉินรวม 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ต่อราย 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน เช่น ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเรียนบุตร สามารถกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 10 ต่อปี ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมีความคืบหน้ามีคนเข้ามาขอจดทะเบียนเป็นพิโกไฟแนนซ์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเจ้าหนี้กลัวผิดกฎหมาย มีโทษสูงสุดถึงจำคุก หากปล่อยกู้ดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี การเป็นพิโกไฟแนนซ์ คิดอัตราร้อยละ 36 ต่อปี แต่สามารถอยู่ได้หากมีหนี้เสีย เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ภายในปีนี้ตามเป้าหมาย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. อนุมัติผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศแล้ว 119 ราย จากยอดคำขอใบอนุญาตทั้งหมด 322 ราย และเปิดให้บริการประชาชนแล้ว 60 ราย ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขหนี้นอกระบบของภาครัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหนี้นอกระบบเดิมเข้ามาในระบบสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถทยอยอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการช่วยให้ประชาชนไม่ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จะต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน ซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท วงเงินให้กู้ยืมไม่เกินรายละ 50,000 บาท สามารถบริการได้ตามพื้นที่กำหนดไว้ โดยผู้ประกอบการจะคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ จากลูกหนี้รวมกันแล้วไม่เกินอัตราดอกเบี้ยแท้จริงร้อยละ 36 ต่อปี ส่วนการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามหนี้ตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนด
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบสำหรับเกษตรกร และครอบครัว โดยให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำไปชำระหนี้สินนอกระบบ เป็นการลดภาระทางการเงินให้กับเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินกู้ไว้รวม 10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท กรณีใช้บุคคลค้ำประกันและสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท กรณีใช้ที่ดินจำนองค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือร้อยละ 12 ต่อปี ผลดำเนินงานปัจจุบันจ่ายสินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้แล้ว 40,857 ราย เป็นเงินสินเชื่อ 3,978 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธกส. ได้เตรียมวงเงินสินเชื่ออีก 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรกู้เงินกรณีมีความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือนต่าง ๆ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น โดยมีการผ่อนคลาย หลักประกัน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันจ่ายสินเชื่อนี้แล้ว 2,780 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรได้ 58,352 ราย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ชาวบ้านลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยผ่านธนาคารออมสิน 434,885 ราย มูลหนี้ 23,653 ล้านบาท เป็นชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 146,119 ราย มูลหนี้ 8,433 ล้านบาท แยกเป็นชาวบ้านในนครราชสีมา 23,392 ราย มูลหนี้ 1,413 ล้านบาท จึงต้องเร่งหาทางนำมาฝึกอบรมบ่มเพาะความรู้ประกอบอาชีพ เพราะขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินไปแล้ว 39,000 ราย วงเงิน 1,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยกู้ 60,000 ราย