ผู้ว่าฯ ธปท. เผยเงินบาทแข็งค่าไม่กระทบการส่งออก ยันไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรผิดปกติ เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติมาตรการจูงใจผู้ส่งออกรายเล็กทำประกันความเสี่ยง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีเพิ่มขึ้น 7% แม้จะเทียบกับประเทศคู่แข่งจะเห็นว่าสูงสุด แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในหลักทศนิยม และการแข็งค่าก็เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยยอมรับว่า การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่มาจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะไม่กระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ ซึ่งจะเห็นว่าในบางปีค่าเงินบาทแข็งค่า แต่การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ดี หรือบางปีค่าเงินอ่อนค่า แต่การส่งออกกลับชะลอตัว ซึ่งปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้การส่งออกเติบโตได้มาจากความต้องการ และการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าซึ่งมีผลมากกว่า แต่ก็ยังต้องระวังในบางธุรกิจที่นำเข้าสินค้าเพื่อส่งออก อาจจะได้ประโยชน์ แต่สินค้าภาคการเกษตรอาจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ต้องเทียบกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับทิศทางค่าเงิน และให้คำแนะนำลูกค้าให้เลือกใช้สกุลเงินที่มีความเสี่ยงน้องกว่า โดยในส่วนของ ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกรายเล็ก เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ โดยในส่วนของรายละเอียดมาตรการขอให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน
ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในขณะนี้ไม่เหมือนในอดีต เช่น การเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อเป็นการพักเงิน ที่ผ่านมา ธปท. ก็มีมาตรการชะลอการออกพันธบัตรระยะสั้น ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ปลายปีงบประมาณ ทำให้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นเป็นในการออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการต่าง ๆ ทำให้ผลตอบแทนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงนี้เฉลี่ยที่ 10% ของดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินมา ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก
“เงินทุนที่ไหลเข้าช่วงนี้ ยังไม่พบว่ามีสัญญาณการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ซึ่งหากพบว่ามีสัญญาณ ธปท. ก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมือเข้าไปควบคุมดูแล แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้อะไรบ้าง หรือจะขยายเวลามาตรการชะลอการออกพันธบัตรระยะสั้นออกไปนานเท่าไหร่ ซึ่งไม่ต้องการให้ตลาดคาดเดาได้ และ ธปท. ก็มีเครื่องมือที่หลากหลาย การนำมาใช้จึงต้องผสมผสานให้เหมาะสม” นายวิรไท กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 9% ของจีดีพี ลดลงจากปีก่อนที่ 12% ของจีดีพี มาจากคาดว่า ไทยจะมีการลงทุนเพิ่มทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งจะมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น โดยการลงทุนที่เกิดขึ้นในส่วนของการลงทุนสินทรัพย์ถาวรเริ่มชะลอลง เมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น
นายวิรไท กล่าวอีกว่า ธปท. จะติดตามความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน โดยที่ผ่านมา ค่าเงินบาท รวมทั้งสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. มุมมองนักลงทุนที่ยังกังวลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน จากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ 2. ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจาการส่งออกที่ขยายตัว 3. ปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในบางรายการเข้ามามาก และ 4. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก เช่น ปัญหาความตึงเครียดจากคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินวอน
ส่วนที่มีการมองกันว่า เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นตัวนั้น นายวิรไท มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยได้อานิสงส์จากภาคต่างประเทศ คือ การท่องเที่ยวและการส่งออก และอานิสงส์จากภาครัฐ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ และการลงทุนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตแบบกระจายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนในบางธุรกิจส่งออกที่ขยายตัวดี และเริ่มเห็นมีการขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น