xs
xsm
sm
md
lg

ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในชะอำ, หัวหิน และปราณบุรี รวมทั้งตลาดคอนโดฯ ในพัทยา ณ ครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวถึงตลาดที่อยู่อาศัยในชะอำ, หัวหิน และปราณบุรี รวมไปถึงตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยา ว่ายังคงชะลตัวต่อเนื่องในภาพรวม แม้จะมีปัจจัยบวกจากโครงการภาครัฐที่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง หรือมีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องดูในระยะยาว

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในชะอำ หัวหิน และปราณบุรี มีการชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่ลดลงชัดเจนจากปี พ.ศ. 2554-2555 ที่เปิดขายปีละมากกว่า 9,000 ยูนิต แต่ลดลงชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมียูนิตเหลือขายจำนวนมากในตลาด

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 390 ยูนิต ลดลงจากช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ. 2559 ประมาณ 42% คอนโดมิเนียมเพียง 2 โครงการเท่านั้นที่เปิดขายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการหลายราย เลือกชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงที่ตลาดชะลอตัว และเลือกที่จะขายยูนิตที่สร้างเสร็จแล้วก่อน

ตลาดบ้านจัดสรรก็ยังอยู่ในสภาวะเดียวกับตลาดคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยมีเพียงแค่ 11 ยูนิตเท่านั้นที่เปิดขายในครึ่งแรกปี และทั้งหมดอยู่ในพื้นที่หัวหินฝั่งภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายมากที่สุดในพื้นที่ชะอำ หัวหิน และปราณบุรี โครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วในชะอำ หัวหิน และปราณบุรี พยายามกระตุ้นให้ผู้ซื้อเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์ยูนิตที่ซื้อไป แต่ผู้ซื้อบางส่วนไม่มาโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากพวกเขาเป็นนักเก็งกำไรที่ต้องการลงทุนในระยะสั้น และส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมในการโอนกรรมสิทธิ์ เพราะว่า ภาวะการเงินของพวกเขาต่ำกว่าที่ทางธนาคารกำหนด ดังนั้น คอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วจำนวนมาก จึงยังเหลือขายอยู่ในตลาด และค่อย ๆ ดูดซับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2560 โครงการที่สร้างเสร็จแล้วบางโครงการ ซึ่งอยู่ในทำเลดี มีการออกแบบและรูปแบบโครงการที่น่าสนใจ ยังคงเป็นที่สนใจของผู้ซื้อ”

เมืองท่องเที่ยวชายทะเลทั่วประเทศไทยพบกับช่วงเวลายากลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของคนไทย บ้าน และคอนโดมิเนียม ในเมืองชายทะเลไม่ใช่ตัวเลือกแรกของผู้ซื้อหลายราย เพราะอสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยวนั้นเป็นการซื้อเพื่อเป็นบ้านพักผ่อนในช่วงวันหยุด หรือบ้านหลังที่สอง ดังนั้น ตลาดที่อยู่อาศัยในเมืองท่องเที่ยวชายทะเล จึงมีการขยายตัวช้าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งในพื้นที่ชะอำ หัวหิน และปราณบุรี

อัตราการขายเฉลี่ยในชะอำ หัวหิน และปราณบุรี ณ ครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 ยังคงใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2559 ด้วยอัตราการขายเฉลี่ยประมาณ 78% สำหรับตลาดบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม อยู่ที่ประมาณ 79% โครงการคอนโดมิเนียมบางโครงการพบกับความลำบากในการโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากผู้ซื้อบางส่วนไม่ต้องการโอนกรรมสิทธิ์ และคืนยูนิตที่จองไว้กลับมาให้ผู้ประกอบการ ดังนั้น อัตราการขายเฉลี่ยจึงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงพยายามไม่ปรับราคาขายขึ้นมากนักในช่วงนี้ เพราะต้องการดึงดูดผู้ซื้อให้เข้ามาซื้อยูนิตที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์

โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่บางโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-หัวหิน และโครงการรถไฟรางคู่จากกรุงเทพฯ ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับเพ่มขึ้น และมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตแน่นอน แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักก็ตามในปัจจุบัน

คอนโดมิเนียมในพัทยามีการเปิดขายใหม่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่ส่งผลดีต่อตลาดการท่องเที่ยว รวมไปถึงการที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียลดลง เพราะค่าเงินรูเบิลที่ลดค่าลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อการขายคอนโดมิเนียมในพัทยาค่อนข้างชัดเจน เพราะกำลังซื้อส่วนหนึ่งในตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาเป็นชาวรัสเซีย อีกทั้งการที่ก่อนหน้านี้มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายเป็นจำนวนมาก และยังเหลือขายอยู่ในตลาดอีกไม่น้อย

“ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงเลือกที่จะชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปก่อนในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 โดยมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 488 ยูนิตเท่านั้น จำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในปี พ.ศ. 2559-2560 นั้น ลดลงจากปี พ.ศ. 2554-2557 แบบชัดเจน ทำเลที่ยังคงมีโครงการเปิดขายต่อเนื่องทุกปี คือ บนเขาพระตำหนัก แต่เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ เกือบทุกโครงการ ส่วนพื้นที่จอมเทียนโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวถนนจอมเทียนสาย 2 ที่ก่อนหน้านี้มีโครงการเปิดขายกันมากมาย ก็ไม่มีโครงการเปิดขายใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีแต่โครงการขนาดเล็กเพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่เปิดขายในพื้นที่นี้ เรียกได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีจำนวนยูนิตหลายร้อยยูนิตเปิดขายไม่มากนัก และมีหลายโครงการร่วมทุนของผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ ที่ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปจากที่เคยเปิดตัวมาก่อนหน้านี้” นายสุรเชษฐ กล่าว

คอนโดมิเนียมในพัทยามีอัตราการขายเฉลี่ยที่ประมาณ 79% แม้จะค่อนข้างสูง แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายกันมากกว่า 15,000 ยูนิตต่อปี และอีกประมาณ 12,500 ยูนิตในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งรวมแล้วมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึงครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 77,000 ยูนิต ดังนั้น ยังมีคอนโดมิเนียมเหลือขายอยู่ในตลาดอีกไม่น้อยกว่า 15,000 ยูนิต อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ความเชื่อมั่น รวมไปถึงกำลังซื้อของคนไทยลดลง นอกจากนี้ การที่ผู้ซื้อชาวรัสเซียก็หายไปจากตลาดด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีคนจีน และญี่ปุ่น เข้ามาเป็นผู้ซื้อกลุ่มใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทน หรือเติมเต็มส่วนที่หายไปได้ แต่การที่พัทยาเป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการพัฒนาของสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่ดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาในปี พ.ศ. 2560 หรือปีหน้าก็ยังคงมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะยูนิตเหลือขายที่ยังกดดันผู้ประกอบการให้เร่งขายโครงการที่สร้างเสร็จก่อน” นายสุรเชษฐ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น