xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” แนะคลังผ่าทางตัน ปลดล็อกภาษีกองทุนร่วมทุน หวังกรุยทางสตาร์ทอัปเข้าถึงแหล่งระดมทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
“สมคิด” เผยในการประชุมการเข้าถึงแหล่งทุนของกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital หวังผลักดันสตาร์ทอัปไทยเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น แนะคลังร่างกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาสตาร์ทอัป เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว ชี้ 10 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ S-Curve กระตุ้นให้เกิด Crowd Funding ที่สำคัญในอนาคต

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการประชุม การสร้างศูนย์กลางการเข้าถึงแหล่งระดมทุนของกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital เพื่อให้สตาร์ทอัป ซึ่งจะมีการการือกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ว่า ตนเตรียมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้อนุมัติออกวีซ่าให้แก่นักลงทุนต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจด้านสตาร์ทอัป เพื่อให้เข้ามาร่วมงานกับคนไทยในการสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ อีกทั้งเพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการหาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานดังที่ประสบอยู่ในปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital ในปัจจุบันนี้ พบว่ายังมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านภาษี จึงได้มีการหารือร่วมกันกับทางนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในการหาแนวทาง และร่างกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้สตาร์ทอัปสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกมากขึ้น

“สิ่งสำคัญ คือ การสร้างสตาร์ทอัปของไทย ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งรัฐถือว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือด้านการหาแหล่งระดมทุนที่เหมาสมกับ Venture Capital ซึ่งการก่อตั้งสตาร์ทอัปในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ เรายังไม่มีความชำนาญเท่ากับในต่างประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริม โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และมหาวิทยาลัย ต้องประสานงานร่วมมือกันในการฝึกฝน และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ตั้งแต่ระดับรั้วมหาวิทยาลัย”

ขณะที่ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการระดมความเห็น เพื่อแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัป ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ หรือ Convertible bond 2. การเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิในหุ้น หรือ Preferred Shares 3. การทยอยให้หุ้น หรือ Vesting หรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาที่กำหนด และ 4. การออกหุ้นให้พนักงาน หรือกรรมการ หรือ ESOP โดยเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความล่าช้า และสูญเสียโอกาสในธุรกิจ

ด้านนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจพบว่า ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเกิดใหม่ หรือสตาร์ทอัปขนาดเล็ก มีความต้องการเงินทุนในการสร้างธุรกิจที่ประมาณ 10-20 ล้านบาท และหากเป็นรายใหญ่จะต้องการเงินทุนที่ประมาณ 40-50 ล้านบาท

“ปัจจุบันมี Venture Capital ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มดำเนินธุรกิจแล้วกว่า 30 ราย และมีวงเงินหมุนเวียนเพื่อให้การสนับสนุนประมาณ 27,000 กว่าล้านบาท โดยพบว่าที่ผ่านมา ยังมีอุปสรรคในหลายด้าน เช่น การสร้างความเข้มแข็ง, การเพิ่มศักยภาพของสตาร์ทอัปที่จะกระตุ้นให้เกิด corporate venture capital หรือ CVC ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและลอจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล การแพทย์ครบวงจร ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร ให้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิด Crowd Funding นำไปสู่การระดมทุนระดับปลีกย่อยของสตาร์ทอัปต่อไป”

พร้อมกันนี้ ตลท. ได้มีการเตรียมที่จะจัดตั้ง Corporate Venture Capital หรือ CVC จำนวน 1 แห่ง เพื่อให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนตลาดทุนไทย และเชื่อมโยงในการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับ CVC อื่น ๆ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะใช้วงเงินในการจัดตั้งประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นภายในปี 2561

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชน พบว่ามีการตั้งโมเดลว่า หากมีผู้สนใจเป็นสตาร์ทอัป จำนวน 10,000 ราย จะมีสตาร์ทอัปที่ได้รับเงินทุนจาก venture capital จำนวน 1,000 ราย ในวงเงินหมุนเวียนประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีในการดำเนินการ เพราะในแต่ละปี venture capital มีเพดานจำกัดที่จะสนับสนุนได้ไม่เกินปีละ 300 รายเท่านั้น












กำลังโหลดความคิดเห็น