“คลัง” เผยกฤษฎีกายังไม่บรรจุร่างแก้ไขกฎหมายขยายเพดานถือหุ้นของกระทรวงการคลังในไอแบงก์เกิน 49% เข้าสู่วาระการพิจารณา ส่วนความคืบหน้าแหล่งเงินที่ใช้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ได้ข้อสรุป สคร. จะใช้เงินตัวเองที่มี 2 พันล้านบาทใส่ส่วนที่เหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท ขอคลังดึงเงินจากกองทุน SFI มาช่วย ด้าน “ผอ. สศค.” ยืนยัน พร้อมโอนเงินกองทุนฯ ที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวมกัน 1 หมื่นล้านบาทให้คลังได้ทันทีที่กระบวนการแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ แต่หากยังมีเงินไม่พอที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ได้ครบทั้ง 1.8 หมื่นล้านในคราวเดียวแล้ว จะทยอยซื้อหุ้นส่วนที่ยังขาดในภายหลัง
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 เพื่อขยายเพดานการถือหุ้นของกระทรวงการในธนาคารอิสลามฯ (ไอแบงก์) ได้เกิน 49% เพื่อรองรับแผนการเพิ่มทุนใหม่ให้ธนาคารอีกราว 18,000 ล้านบาทว่า เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขในส่วนที่ถือสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอนุมัติเสียก่อน
ก่อนหน้ากระทรวงการคลังได้เคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว และปัจจุบันได้ส่งให้กฤษฎีกาทำการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบความคืบหน้า โดยตามหลักการขั้นตอนกระบวนต่าง ๆ สำหรับการแก้ไขกฎหมายนั้น จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ แต่ล่าสุด เท่าที่ตรวจสอบความคืบหน้าในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกานั้น กฎหมายไอแบงก์ยังไม่มีรายชื่อที่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา อย่างไรก็ตาม หลังกระบวนการหลังการพิจารณาของกฤษฎีกาเสร็จสิ้นลงแล้ว กระทรวงการคลังยังต้องนำร่างกฎหมายใหม่เสนอกล้บเข้าสูที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อขอให้บรรจุเป็นวาระการประชุมใน สนช. ต่อไป
สำหรับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากพันธมิตรใหม่ในอนาคตนั้น แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พันธมิตรใหม่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่คลังต้องเป็นผู้ถือไว้ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีผู้ถือหุ้นในปัจจุบันรายใดที่ต้องการจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ร่วมกับกระทรวงการคลัง ขณะที่แหล่งที่มาของเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนในส่วนของคลังนั้น มีข้อสรุปแล้วว่าสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเป็นเงินที่มาจาก สคร. เอง 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้น สคร. ได้ขอให้กระทรวงการคลังใช้เงินจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) จากธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันจะมีมูลค่ารวมกันราว 10,000 ล้านบาท
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณ์ะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้เตรียมพร้อมที่จะโอนเงินจากกองทุน SFI ให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในไอแบงก์ได้ในทันทีที่การแก้ไขกฎหมายขยายเพดานการถือครองหุ้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่เงินในกองทุนก็ยังมีไม่พอกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้ง 18,000 ล้านบาทได้ในคราวเดียวแล้ว กระทรวงการคลังก็จะค่อย ๆ หาเงินเพื่อทยอยเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่ยังขาดให้แก่ไอแบงก์ในภายหลัง
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เคยกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ไอแบงก์ และกระทรวงการคลัง ได้ตกลงกันว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มขยายเพดานการถือหุ้นในส่วนของครั้งเพิ่มเป็นการชั่วคราว และให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวนี้โดยทันทีเมื่อธนาคารได้เสร็จสิ้นการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่พันธมิตรใหม่แล้ว เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการแก้ไขกฎหมายนั้น มีสามเหตุจากผู้ที่สนใจจะขอร่วมทุนแต่ละรายต่างก็ต้องการเห็นไอแบงก์ ทำการปรับสัดส่วนการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงกลับมาเป็นไม่ให้ติดลบ ก่อนที่การเจรจาร่วมทุนจะเริ่มต้นขึ้นได้