ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2560 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่าเงินฝากยังล้นธนาคาร ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ แต่ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคถึงภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ในอนาคต ทำให้ชะลอการจับจ่าย แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ ระบบโครงข่ายคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ แล้วก็ตาม แต่โครงการต่าง ๆ ดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา การเปิดตัวโครงการใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เฉพาะคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 ส่วนในแง่ของยอดขายคาดว่ายังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปีคาดว่าน่าจะปรับลดลง 5-10% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งมากจากช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ตลาดชะลอตัวมาก รวมถึงในช่วงต้นปี 2559 มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทำให้ยอดโอนเพิ่มสูงผิดปกติ
“แม้ว่าผู้ประกอบการจะเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ส่วนตลาดบ้านเดี่ยวยังคงไม่หวือหวาเช่นเดิม การเปิดตัวอยู่ที่ 40,000 หน่วยต่อปีมาโดยตลอด ซึ่งในแง่ของยอดขายก็ไม่ได้ดีมากนัก ส่วนยอดโอนจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดมากที่สุดเนื่องจากเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อขายบ้าน ซึ่งปีนี้น่าจะปรับลดลง 5-10% ถือว่าไม่เลวร้ายเท่าใดนัก” นายอิสระ กล่าว
จากความกังวลด้านภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ หรือเปิดโครงการใหม่ลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้สินค้าที่จะเข้ามาเติมในตลาดลงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาระบายสต๊อกคงค้างที่มีอยู่ออกไปได้ และทำให้ความกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่ในบางทำเล หรือบางตลาดลดลงไปได้
ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่า แนวโน้มตลาดจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งทำแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นยอดขายทั้งปีให้มีการเติบโต ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ดีของผู้ซื้อบ้านที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากผู้ประกอบการมากที่สุดอีกปี
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะไม่แย่กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากความพยายามของภาครัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงระบบคมนาคมขนส่ง แต่เนื่องจากการดำเนินงานของภาครัฐไม่ได้รวดเร็วทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น มีตัวเลขเป็นบวกเป็นครั้งแรก จึงทำให้เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน
คาดการณ์อสังหาฯ ปี 60 ยังโตได้ 5-10%
ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 น่าจะเติบโตได้ราว 5-10% ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ที่เชื่อว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะเร่งจัดแคมเปญแรงกว่าที่ผ่าน ๆ มา เพื่อกระตุ้นยอดขาย นอกจากในช่วงเดือนตุลาคมจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเป็นช่วงที่คนไทยโศกเศร้า และหยุดกิจกรรมการตลาดทั้งหมด จึงทำให้มีเวลาในการขาย และการตลาดลดลง
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 23,000 ยูนิตเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าทั้งปีจะมีโครงการเปิดใหม่ 45,000 ยูนิต มากกว่าปีที่ผ่านมา 15% ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ราว 40,000 ยูนิต การเปิดตัวโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดเพียงไม่กี่ราย อาทิ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) จะเน้นพัฒนาโครงการในทำเลที่หาได้ยาก และแทบจะไม่สามารถหาที่ดินมาพัฒนาได้อีกแล้วหลังจากนี้ แม้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีราคาแพงก็ตาม ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในทำเลดังกล่าวต้องรีบซื้อ หรือซื้อเพื่อลงทุน
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทที่เน้นทำเลที่มีศักยภาพ สินค้าที่เปิดขายในช่วงนี้เน้นระดับบนเป็นหลัก ล่าสุด เตรียมเปิดขายโครงการโครงการ Life One Wireless ถนนวิทยุ, บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มหันมาลุยตลาดอีกครั้ง โดยประสบความสำเร็จมากในโครงการ เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตร-งามวงศ์วาน อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ห่างจากประตูงามวงศ์วาน 3 ประมาณ 250 เมตร นับเป็นทำเลที่หาได้ยาก และโดดเด่น โครงการนี้เฉพาะอาจารย์ของ ม.เกษตร จองซื้อเกือบ 100 ยูนิต และมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่เร็ว ๆ นี้
บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทที่เปิดขายคอนโดฯ อย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ชะลอแผนลงทุน โดยออริจิ้นฯ จะเน้นลงทุนตามทำเลตามแนวรถไฟฟ้าส่วนตัวขยาย หรือเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในอนาคตเติบโตอย่างแน่นอน และจะทำให้ราคาคอนโดฯ ของออริจิ้น มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้สินค้าของออริจิ้น มีแรงจูงใจ และยังสามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนบริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่องในช่วงปีนี้เช่นเดียวกัน
การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ดังกล่าวสะท้อนถึงความเชื่อมั่น และความสามารถของผู้ประกอบการดังกล่าวว่ายังสามารถทำการตลาดได้ มีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่ชะลอการลงทุน หลายโครงการสามารถปิดการขายได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหลายโครงการมียอดขายที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วพบว่า โครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกมียอดขายเพียง 50% เท่านั้น
หอการค้า คาดเศรษฐกิจไทยโต 3.5-4.0
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่หลายฝ่ายยังกังวลว่าจะเติบโตได้หรือไม่นั้น ล่าสุด หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทย ประเมินว่า ทั้งปี 2560 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5-4.0 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ การส่งออกสินค้าฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ถึง 7.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 93,265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 5% ของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงครึ่งปีหลัง เกือบทุกภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยสัญญาณการฟื้นตัวมาจากการท่องเที่ยว และบริการ การลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น EEC รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด, เลี้ยงสัตว์, ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงาน เป็นต้น และหลายรายการมีราคาปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำ และไม่คล่องตัว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 63.3, 70.0 และ 91.5 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2560 ที่อยู่ในระดับ 64.3, 70.9 และ 92.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 74.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวม
สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 52.9 แสดงว่า ผู้บริโภครู้สึกว่า ภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงานในปัจจุบัน ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เช่นเดียวกันโดยปรับตัวสู่ระดับ 84.1 ซึ่งสะท้อนว่า ผู้บริโภคยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในอนาคต
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่เกิดขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญหลายรายการทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ ข้าว, ยางพารา, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดทั่วประเทศซึมตัวลง ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วประเทศ จะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการใช้จ่ายของภาคประชาชน ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้