แบงก์ชาติ อนุญาตผู้ประกอบการเพิ่ม 3 ราย ร่วมทดสอบ Regulatory Sandbox แบ่งเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี blockchain จำนวน 2 ราย และโครงการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนม่านตา (Iris recognition) อีก 1 ราย
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินด้าน FinTech โดยเปิดให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ให้บริการ FinTech สามารถเสนอโครงการเข้าทดสอบนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ใน Regulatory Sandbox ได้นั้น
โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ธปท. ได้อนุญาตผู้เสนอโครงการอีก 3 ราย เพิ่มเติมจากโครงการที่มีการนำ private blockchain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (Letter of Guarantee) รวมขณะนี้มีผู้เสนอโครงการ 4 รายที่เข้าร่วมการทดสอบใน Regulatory Sandbox โดยโครงการใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบให้เข้าทดสอบ ประกอบด้วย
1. โครงการการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-border transfer) จำนวน 2 ราย โดยเป็นการนำเทคโนโลยี blockchain ประเภทหนึ่งมาอำนวยความสะดวก และปรับปรุงประสิทธิภาพในการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยระยะแรกเป็นการโอนเงินจากต่างประเทศมายังผู้รับเงินในไทยระหว่างภาคธุรกิจ และการโอนเงินระหว่างประชาชนจากต่างประเทศมายังในประเทศ
2. โครงการยืนยันตัวตนด้วยการตรวจสอบรูปแบบม่านตา (Iris recognition) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถใช้ม่านตาในการยืนยันตัวตน เพื่อเข้าใช้งานบริการผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการบนโทรศัพท์มือถือ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ username/password ซึ่งจะมีความปลอดภัย และความแม่นยำสูง ลดปัญหาของผู้ใช้งานในการจดจำ และบริหารจัดการ username/password
ทั้งนี้ ในการพิจารณาเห็นชอบนวัตกรรมเพื่อเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox นั้น ธปท. ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความเสี่ยงด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี และความปลอดภัย และการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในระหว่างที่ทดสอบ เพื่อให้บริการทางการเงินมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม