บล.กสิกรไทย ประเมินการลงทุนหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง คาดจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ การท่องเที่ยว และการส่งออก ชี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ตลอดปี 2560 มอง EPS ปี 2560 ที่ 105.8 บาท/หุ้น ส่วนเป้าหมาย SET Index คาดสิ้นปีเคลื่อนไหวระดับ 1,570 จุด แนะกลยุทธ์การลงทุน 3 ทาง จับตาเงินปันผล นโยบายรัฐบาล และการฟื้นตัวของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังความผันผวนหลักน่าจะมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา จากประเด็นนโยบายทางการคลังของสหรัฐฯ ที่ยังคงสร้างความไม่แน่นอนในตลาด เช่น การเจรจาเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2560 และมาตรการด้านภาษี และงบประมาณของทรัมป์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว และระดับหนี้ครัวเรือนล่าสุดที่สูงกว่าก่อนช่วงวิกฤตซับไพร์ม น่าจะทำให้เฟด ยังคงส่งสัญญานการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นต่อไป และยังคงคาดการณ์ในเรื่องการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเช่นกัน ในส่วนของการประกาศเริ่มปรับลดขนาดงบดุล (Balance sheet shrinking) น่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังในช่วงสิ้นปี 2560
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่า น่าจะไม่รีบปรับทิศทางนโยบายทางการเงินให้ตึงตัวขึ้นภายในปีนี้ แม้ว่ามีทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อยังไม่ฟื้นตัว สำหรับมุมมองต่อราคาน้ำมัน คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยมีปัจจัยกดดันจาก ข้อตกลงในการขยายกรอบเวลาปรับลดปริมาณการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) และนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) ที่เป็นเพียงการซื้อเวลา และกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐอมริกา ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว
ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เรายังคงมุมมองการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้าในอุปสงค์ภายในประเทศ ด้วยจำนวนคนว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น 25% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงคาดว่าการฟื้นตัวของค่าจ้างนอกภาคเกษตรจะยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ และจะยังคงเป็น Missing Link ระหว่างการฟื้นตัวของการส่งออกที่กระจุกตัว และการบริโภคที่อ่อนแอต่อไป ตัวเลขยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เติบโตได้ดีในช่วง 4 เดือนแรกของปี อาจไม่ใช่สัญญานการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ออกจากโรงงานไปสู่ดีลเลอร์ ซึ่งมีทิศทางต่างกับตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์นั่งที่ยังคงเติบโตค่อนข้างช้า
นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ Backlog ที่มีในมือยังเพียงพอที่จะกระตุ้นให้การลงทุนภาครัฐเติบโตขึ้นในระดับ 10% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการอนุมัติ และการประมูลของการของภาครัฐน้อย แต่คาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือหลักในการปลดล็อกข้อติดขัดของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทำให้มีการอนุมัติ และประมูลโครงการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2560-ครึ่งปีแรก 2561 เช่นเดียวกันกับกลุ่มท่องเที่ยวที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัว จากการที่นักท่องเที่ยวจากจีน และมาเลเซีย เริ่มกลับมา รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่คาดว่า จะกลับมาหลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดในช่วงปลายไตรมาส 2
ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนคาดว่า จะฟื้นตัวในปี 2561 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ก็ตาม เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดกลุ่มนักลงทุนได้ คือ การบังคับใช้ พ.ร.บ. EEC ซึ่งรัฐบาลคาดว่า จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในเดือนตุลาคม 2560 ดังนั้น การกลับมาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนของเอกชนน่าจะกลับมาได้ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ระดับ 1% โดยเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดมีสาเหตุมาจากราคาอาหารสดที่ไม่สูงเท่าปีที่แล้ว และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ไปตลอดทั้งปี 2560
ด้าน นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 3 ตลาดจะเผชิญความเสี่ยงจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงทั้งเทียบระหว่างไตรมาสก่อนหน้า และ ช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะทำให้ดัชนีไม่สามารถไปได้ไกลกว่า PER 15 เท่า ที่ 1,587 จุดได้มากนัก โดยสุดท้ายแล้วคาดว่า ดัชนีจะกลับลงมาเคลื่อนไหวที่เป้าหมาย 1,570 จุด
สำหรับช่วงไตรมาส 3 กสิกรไทยวางกลยุทธ์การลงทุนสำหรับนักลงทุนไว้ 3 แนวทาง คือ 1. อย่ามองข้ามเงินปันผล แม้จะยังคาดถึง bond yield ที่สูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่าเงินปันผลจะยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนทั้งหมด โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 3/2560 ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ต่างก็มีอัตราปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด มีความมั่นคง และศักยภาพการเติบโตที่ดี ขณะที่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล การลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ส่วนหุ้นซึ่งมีความโดดเด่น ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในธุรกิจผู้รับเหมางานโยธางานโครงสร้างพื้นฐาน และ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ผู้ประกอบารธุรกิจพลังงานทดแทน ในส่วนของ การฟื้นตัวของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมเท่ากับตลาดเป็นมากกว่าตลาด โดยหุ้นที่มีความโดดเด่น ได้แก่ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH และ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เพราะจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของกลุ่ม และมีอัตราการตอบแทนของเงินปันผลที่ดี รวมถึง บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ซึ่งที่มีสัดส่วนยอดขาย 20% มาจากโครงการใหม่ ๆ