ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 3.7% จากเดิมคาด 2% ตามปัจจัยบวกด้านราคา และปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) คาดว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 3.7% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2% ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมัน และปัจจัยด้านปริมาณจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก
โดยการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนหลังจากหดตัว 2 ปีติดต่อกันในปี 57 และ 58 ถึง 0.4% และ 5.7% และเริ่มขยายตัวเป็นบวกอ่อนๆ ในปี 59 ซึ่งไตรมาสแรกของปี 60 ขยายตัว 4.9% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม ที่ขยายตัวได้ถึง 9.2% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 20,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากการเพิ่มขึ้นของเกือบทุกกลุ่มสินค้า และเกือบทุกตลาด
"การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องในปีนี้จากทั้งราคา และปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าส่งออกมักจะเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนไป 1% จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันประมาณ 0.11% ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ณ สิ้นปี จะยืนที่ 57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4% จากต้นปี" เอกสารเผยแพร่ระบุ
นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่เป็นไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง IMF คาดเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ขยายตัวได้ 3.2% อีกทั้ง ตัวชี้วัดภาวะการค้าโลก (World Trade Outlook Indicator) ที่จัดทำโดย WTO ก็บ่งบอกว่า แนวโน้มการค้าโลกเริ่มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และจะยังคงเร่งตัวต่อเนื่องในปี 2560 สอดคล้องกับมูลค่าส่งออกของประเทศในภูมิภาค เช่น การส่งออกของประเทศใน ASEAN 5 ที่หดตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ถึง 14%
ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวแผ่วลง จากไตรมาสแรกที่มีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี เนื่องจากฐานราคาสินค้าที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในช่วงที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะมาจากปัจจัยด้านปริมาณเป็นหลัก โดยมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการค้าโลกที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะตลาดจีน CLMV และสหรัฐฯ ในขณะที่สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้แข็งแกร่ง ได้แก่ ยางพารา และเคมีภัณฑ์จากราคาที่สูงขึ้น คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังคงความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปที่แม้ผ่านการเลือกตั้งฝรั่งเศสไปแล้ว จะมีการเลือกตั้งในเยอรมนี และอิตาลีต่อไป ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าสหรัฐฯ และปัญหาหนี้ของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้หาวิธีรับมือได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของภาคการผลิตของไทยให้สอดคล้องกับห่วงโซ่มูลค่าของโลก และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญในระยะยาว